3 ปัจจัยหลักที่ทำให้นอนไม่หลับ ส่งผลต่อสุขภาพ

โดย BDMS

เผยแพร่

ปัญหาสุขภาพยอดฮิตของคนในยุคนี้ คือ “อาการนอนไม่หลับ” เป็นอาการที่หลายคนต้องเคยประสบพบเจอ ด้วยความเครียดจากหน้าที่การงาน หรือสิ่งรุมเร้าจากมือถือ ทีวี คอมพิวเตอร์ เล่นเกม

การนอนหลับ คือการชาร์จแบตเตอรี่ให้ร่างกาย นึกสภาพมือถือของเราก็ได้ แบตเต็มสดชื่น ทำงานคล่อง แบตน้อยเหนื่อยล้า หน่วง ๆ หลักการเดียวกัน แต่ร่างกายคนเราอัศจรรย์ การนอนหลับไม่ใช่ได้ประโยชน์แค่การพักผ่อน แต่ยังเป็นการซ่อมสร้างด้วย เพราะการนอนหลับสัมพันธ์กับฮอร์โมน 2 ตัวนั่นก็คือ เมลาโทนิน และโกรทฮอร์โมน ซึ่งทั้งสองชนิดจะถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลากลางคืนและทำงานสอดคล้องกัน

DO’S & DON’T ควรทำตัวอย่างไร เมื่อคนใกล้ชิดเป็น “โรคซึมเศร้า”

เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เรานอนหลับ จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเมื่ออยู่ในที่มืดและถูกยับยั้งเมื่อมีแสงสว่าง ซึ่งถ้ามีเมลาโทนินมาก Growth Hormone (โกรทฮอร์โมน) ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

Growth Hormone คืออะไร? ฮอร์โมนนี้หลั่งมาจากต่อมพิทูอิทารี (Pituitary) ที่อยู่ใต้สมอง ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตในทุกด้านรวมถึงความสูง แต่เมื่อผู้ใหญ่ที่มีความสูงถึงจุดสูงสุดแล้ว ร่างกายก็จะนำ Growth Hormone ไปใช้ในการซ่อมสร้างร่างกายแทน

ซ่อมสร้างอะไรบ้าง? ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ กระตุ้นการสร้างมวลกระดูก ย่อยน้ำตาล ไขมัน และส่งเสริมการทำงานระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

อีกทั้งยังช่วยลดความเหี่ยวย่นของผิวหนังเหมือนกับที่เรารู้ดีว่า “ถ้านอนเต็มอิ่ม หน้าตาผิวพรรณก็จะสดใส ถ้าอดหลับอดนอนก็จะดูอิดโรย” เพื่อการสร้าง Growth Hormone ได้เต็มที่ ควรเข้านอนตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่ม และไม่ควรนอนดึกเกิน 5 ทุ่ม นอกจากนั้นยังควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีส่วนประกอบจากน้ำตาลก่อนนอน เพราะจะทำให้ร่างกายสร้าง Growth Hormone ลดลง

เมื่อเรารู้แล้วว่าการนอนหลับคืออะไร ที่เราต้องรู้ต่อไปคือ การนอนหลับมีหลายระดับขั้น แบ่งเป็น 5 Stage คือ

Stage 1: หลับตื้น Light Sleep ใช้เวลาประมาณ 4-5%

เป็นช่วงที่จะตื่นได้ง่าย การเคลื่อนไหวของลูกตาต่ำ บางคนมีอาการกระตุก, สะดุ้งตื่น หรือรู้สึกเหมือนหกล้ม เคยใช่ไหมครับ เหมือนจะเดินสะดุดอะไร แล้วก็เผลอยกขาขึ้น

Stage 2: จังหวะหัวใจสม่ำเสมอ Heart Rate Slow ใช้เวลาประมาณ 45-55%

มีการปรับสภาพอุณหภูมิในร่างกาย ปรับการหายใจเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ลูกตาไม่เคลื่อนไหวและคลื่นสมองจะช้าลง

Stage 3: หลับเริ่มลึก Deep Sleep Begins ใช้เวลาประมาณ 4-6%

คลื่นสมองจะช้าลงมาก การหายใจจะคงที่

Stage 4: หลับลึกปลุกยาก Very Deep Sleep ใช้เวลาประมาณ 12-15%

ในช่วงระยะที่ 3 กับ 4 นี้จะเข้าสู่ช่วงหลับลึกและปลุกให้ตื่นได้ยาก สมองจะสร้างคลื่น Delta Wave ขึ้นมา แต่ในเด็กเล็กบางคนอาจจะเกิดภาวะฝันร้าย, ละเมอ หรือปัสสาวะรดที่นอนได้

Stage 5: REM (Rapid Eye Movement) หายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใช้เวลาประมาณ 20-25%

เมื่อเข้าสู่ช่วง REM Sleep การหายใจจะเร็วขึ้น ไม่สม่ำเสมอ มีการเคลื่อนไหวลูกตาอย่างรวดเร็ว (ทั้งที่หลับตาอยู่) หัวใจเต้นเร็วขึ้น รอบแรกของการนอนจะเกิด REM หลังจากหลับไปแล้วประมาณ 70-90 นาที

ซึ่งทั้ง 5 Stage นี้จะหมุน Repeat ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 90-110 นาที/รอบ จนกระทั่งเราตื่น

การนอนไม่หลับ มีสาเหตุอะไร และอันตรายขนาดไหน?

อาการนอนไม่หลับ ในทางการแพทย์แบ่งประเภทของการนอนไม่หลับออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1. การหลับยาก ต้องใช้เวลาและความพยายามในการนอนหลับนานกว่าปกติ โดยอาจเป็นชั่วโมงหรือมากกว่านั้นนับแต่หัวถึงหมอน

2. ตื่นบ่อยกลางดึก ซึ่งจะไม่ได้หลับยากเหมือนกลุ่มแรก แต่หลับได้ไม่สนิท จะคอยหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ ตลอดทั้งคืน ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

สาเหตุหลัก ๆ แบ่งเป็น 3+1 ปัจจัย

ปัจจัยทางร่างกาย

1. เกิดจากการผิดปกติของโรคทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม, โรคหอบหืด, ความผิดปกติของฮอร์โมน, โรคปอดเรื้อรัง, โรคกรดไหลย้อน และการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

2. เกิดจากความผิดปกติของโรคจากการหลับ เช่น นอนกรน, ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ, ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน, พฤติกรรมและการขยับผิดปกติขณะหลับ และโรคแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต

3. การได้รับยาหรือสารที่มีผลต่อการนอนหลับ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาแก้แพ้ ชา กาแฟ …. หลายคนเป็นครับ เผลอดื่มกาแฟไปตอนเย็น ตาแข็ง นอนไม่หลับเลย

4. การนอนไม่เป็นเวลา บางคนชอบนอนตอนกลางวันนานเกินไป หรือเกิดผลอยหลับตอนหัวค่ำ พอถึงเวลาจะนอนก็นอนไม่หลับ

ปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องทางจิตใจ

1.เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อจิตใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ ไม่สบายใจ หรือเรื่องยอดฮิตเลยก็คือ เครียดเรื่องงาน หรือไม่ก็ทะเลาะกับแฟน

2. เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเวช

ปัจจัยต่อมาคือ สภาพแวดล้อม

1. สภาพห้องนอนมีแสงสว่างมากเกินไป, มีเสียงดังรบกวน หรืออุณหภูมิร้อนเกินไป

2. รู้สึกแปลกสถานที่ เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่นอน อันนี้หลายคนเป็นบ่อย เวลาไปนอนโรงแรม ต่อให้หรูหราแค่ไหน เราก็รู้สึกไม่คุ้นชินเหมือนกับนอนที่บ้าน

3. การนอนไม่เป็นเวลา เช่น การทำงานกะดึก ทำกิจกรรมตื่นเต้นผาดโผนก่อนนอน

4. อาการ Jet Lag การเดินทางระยะไกลแบบข้ามไทม์โซน ที่เมื่อไปถึงที่นั่น ก็ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเวลาในท้องถิ่นได้ ต้องใช้เวลาปรับตัวสัก 1 หรือ 2 วัน

ปัจจัยสุดท้ายที่ซ่อนอยู่ “บวก 1” คือการเล่นมือถือก่อนนอน

เพราะหน้าจอโทรศัพท์มีแสงสีฟ้า หรือ Blue Light ที่ส่งผลกระทบในการผลิตสารเมลาโทนิน ซึ่งช่วยเรื่องการนอนหลับ

ดังนั้นการเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทได้ เนื่องจากการได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนจะทำให้สมองคิดว่าตอนนี้เป็นเวลากลางวัน นอกจากนี้การนอนเล่นมือถือบนเตียง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ชอบปิดไฟ หรือเปิดไฟหัวเตียง ทำให้มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ยังส่งผลเสียต่อสายตาอีกด้วย

เนื่องจากช่วงเวลาที่เรานอนหลับจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง Growth Hormone ถูกหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง เพื่อซ่อมสร้างส่วนที่สึกหรอต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว

เมื่อเรานอนไม่หลับก็จะทำให้กระบวนการซ่อมสร้างร่างกายหยุดชะงัก จนนำมาซึ่งผลเสียต่าง ๆ เช่น

- ทำให้ระบบเผาผลาญพลังงาน ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ

- ระบบขับถ่ายไม่ดี อ้วนง่าย

- ผิวพรรณหมองคล้ำ ผิวแห้ง สิวขึ้น

และยังเป็นบ่อเกิดของโรคต่าง ๆ ด้วย เช่น

- ภูมิคุ้มกันตก

- ความดันโลหิตสูง

ที่สำคัญจะมองข้ามไม่ได้เลยคือ ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ ทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว มีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ และการควบคุมอารมณ์ หรือบางคนอาจเป็นภาวะซึมเศร้า

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ