ข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่าคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน ส่งผลให้ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายราว 53,000 คน/ปี และเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะผู้ป่วยบางส่วนทำสำเร็จ
และที่น่ากังวลคือในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจกลไกของโรค หรือมองว่าโรคนี้เป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจ จนในบางครั้งการแสดงออกบางอย่างก็อาจทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการแย่ลงได้
ผลวิจัยเผย "ป่วยซึมเศร้า" ไม่รักษา อาจทำสมองอักเสบ
กรมสุขภาพจิตให้ประเมิน 9 ข้อ "โรคซึมเศร้า"
โรคซึมเศร้าหรือดีเพรสชันคือโรคจิตเวชหรือโรคทางจิตใจชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าติดต่อกันเป็นเวลานาน ต่อให้พยายามทำวิธีไหนก็ไม่รู้สึกดีขึ้น นอกจากความรู้สึกเศร้าแล้วก็ยังมีความรู้สึกด้านลบแบบอื่น ๆ ด้วย โดยความเศร้าและอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากสารเคมีในสมองที่เรียกว่าสารสื่อประสาทเสียสมดุลและทำงานผิดปกติ
เดิมทีร่างกายเรามีสารเคมีเหล่านี้อยู่ตามธรรมชาติครับ ซึ่งสารแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ต่างกัน ที่หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อก็เช่น เซโรโทนิน โดพามีน หรือที่ไม่ค่อยคุ้นหูอย่างอะ-เซ-ทิล-โค-ลีน (Acetylcholine) และ นอร์-เอ-พิ-เน-ฟริน (Norepinephrine) ที่ล้วนแต่ส่งผลอารมณ์ได้ทั้งนั้นเลย
แล้วอะไรบ้างที่ทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลและทำงานผิดปกติ
1กรรมพันธุ์ นักวิชาการบางส่วนบอกว่าคนที่มีญาติใกล้ชิดป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากเหตุผลด้านพันธุกรรม
2 เหตุการณ์สะเทือนใจ อย่างเด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ถูกบุลลี่ สูญเสียครอบครัว หรือเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลในใจ สำหรับผู้ใหญ่ก็อาจเกิดจากการสูญเสียคนรัก ตกงาน เป็นหนี้ นอกจากนี้ครับ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต อย่างการย้ายงาน ย้ายบ้าน หรือแม้แต่การแต่งงานก็ทำให้บางคนเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้
3 โรคหรือภาวะทางอารมณ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว โรคทางจิตใจหลายโรคที่ความเกี่ยวข้องกัน หากเราภาวะทางจิตใจอย่างภาวะวิตกกังวล โรคเครียด หรือโรคอื่น ๆ เราก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคเหล่านี้
4 ปัญหาด้านร่างกาย คนที่กำลังเผชิญกับอาการป่วยเรื้อรัง ป่วยติดเตียง โรคที่รักษาไม่หาย หรือสูญเสียอวัยวะจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้ก็อาจส่งผลต่อจิตใจจนเกิดโรคนี้ได้
5 ยา แอลกอฮอล์ และสารเสพติด ผลข้างเคียงจากยาหลายชนิดส่งผลต่อการทำงานของสมอง เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็อาจเพิ่มโอกาสของโรคซึมเศร้าได้ ส่วนแอลกอฮอล์และสารเสพติดก็คงไม่ต้องพูดเยอะนะครับ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าส่งผลเสียต่อร่างกายแทบทุกส่วน โดยเฉพาะสมอง การได้รับสารเหล่านี้มากเกินไปเลยทำให้เสี่ยงต่อโรคมากขึ้น
6 การละเลยการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ปัญหานอนไม่หลับที่ไม่ได้รับการรักษา การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ รวมถึงการไม่ออกกำลังกายครับ ยิ่งละเลยการดูแลตัวเองนาน ๆ สมองและร่างกายส่วนอื่นก็ย่อมเสื่อมลงและเกิดปัญหาได้มากขึ้น
หากจะให้พูดง่าย ๆ “อารมณ์ด้านลบในรูปแบบต่าง ๆ คือปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ของโรคนี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ยาก แต่ละปัจจัยก็ทำให้ร่างกายเผชิญกับอารมณ์ทางลบ อย่างความเศร้าเสียใจ ความเครียด ความรู้สึกสะเทือนขวัญ ทั้งหนัก เบา และความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันจนสะสม แล้วถ้าสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงอีก ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น บางคนอาจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้นาน ๆ จนอาจป่วยเป็นซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ดังนั้น หากใครมีความเสี่ยง แนะนำว่าควรสำรวจตัวเองอยู่ประจำนะ จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่สามารถหายได้ เมื่อใช้ยาและดูแลตัวเองตามที่คุณหมอแนะนำ