หลักการจำ คือ หนี ซ่อน สู้
1. หนี
การหนีไม่ได้หมายความว่าเราขลาดกลัว แต่เป็นการกระทำเพื่อปกป้องตัวเองและคนที่เรารักจากเหตุการณ์จลาจล หรือการก่อการร้าย ที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจบังเอิญมากระทบกับตัวเราโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยมีคำแนะนำดังนี้
- รีบเดินหนี ห่ากพบว่าตัวเองพลัดหลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงหรือสถานที่ที่เกิดเหตุ ควรตั้งสติและเดินอ้อม อย่าทำตัวให้เด่น อย่าวิ่ง อย่าหนีเข้ามุมอับหรือมุมตึก
- ไม่มุงดูเหตุการณ์ ไม่ขัดขวางผู้ชุมนุมหรือผู้ก่อเหตุ ไม่โต้แย้ง ยั่วยุ ด่าทอ หรือกระทำการใด ๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายคิดว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้าม พยายามสังเกตหาตำแหน่งของจุดจลาจล มองหาทางออก เมื่อดูว่าปลอดภัยให้หาทางออกจากที่เกิดเหตุทันที ไม่ควรกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สิน และควรจำไว้ว่า เราจะเคลื่อนที่เมื่อปลอดภัยเท่านั้น
- อย่าหนีเข้าห้องน้ำเด็ดขาด เพราะเป็นห้องที่ปิดตายไร้ทางออก ควรเลือกไปยังห้องที่มีหน้าต่าง ที่สามารถปีนออกไปนอกอาคารได้
- ใช้วิธีการแจ้งตำรวจเมื่อเกิดเหตุจลาจล หมายเลข 191 ในเหตุการณ์ชุลมุน เจ้าหน้าที่อาจแยกไม่ออกว่าเราคือผู้ร่วมก่อการจลาจลด้วยหรือไม่ ดังนั้นการเดินเข้าไปหรือวิ่งเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แนะนำให้โทรแจ้งผ่านโทรศัพท์และรอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาหาเราที่จุดหลบซ่อน
2. ซ่อน
หากไม่สามารถหนีจากจุดเกิดเหตุไปไกล ๆ ได้ ควรเข้าไปหลบในอาคาร หรือชั้นสูงของอาคาร โดยใช้สิ่งกำบังขณะวิ่งหนี เช่น วิ่งลัดเลาะไปตามเสา กำแพง โต๊ะ ใช้สิ่งของต่าง ๆ เป็นที่กำบังอาวุธ พยายามไม่เป็นเป้าสะดุดตา และอยู่ใต้ที่กำบังตลอดเวลา หากออกจากสถานที่นั้นไม่ได้ ให้หาที่ซ่อนตัวอย่างเงียบที่สุด เช่น หลบในห้องมืด ปิดไฟทุกดวง ปิดเสียงโทรศัพท์ ล็อกประตู หรือหาของหนักมาขวาง ร่วมกับการโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ และรอจนกว่าจะมีผู้มาช่วย
ความเชื่อที่ผิดมหันต์ คือ เมื่อซ่อนไม่ได้ หนีไม่พ้นให้แกล้งตาย การแกล้งตายบางครั้งก็ไม่รอด เพราะเสี่ยงที่จะเป็นเป้านิ่ง ให้ผู้ก่อเหตุเลือกยิ่งได้
3. สู้
แท้จริงแล้วควรหลีกเลี่ยงการต่อสู้ให้มากที่สุด หากเราต้องการที่จะสู้จริง ๆ จะต้องมั่นใจว่าสามารถใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมืออย่างคล่องมากกว่าผู้ก่อเหตุ การต่อสู้โดยที่ไม่ได้มีพื้นฐานของศิลปะการป้องกันตัวมาก่อน นอกจากจะเป็นเป้าให้แก่ผู้ก่อเหตุแล้ว ยังเป็นการยั่วยุ ให้เหตุการณ?รุนแรงขึ้นอีกด้วย แต่หากสถานการณ์บังคับ เช่น คนร้ายเข้าประชิดตัว การต่อสู้จะเป็นทางเลือกสุดท้าย
สิ่งสำคัญมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คืออย่าไล่ล่าคนร้ายด้วยตัวเอง เพราะเป็นอันตรายอย่างมาก แม้เราจะมีอาวุธ แต่ก็ไม่ควรทำ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมเหตุ อีกทั้งเมื่อเราถืออาวุธในการไล่ล่าคนร้าย จะทำให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่อาจแยกไม่ออกว่าใครคือคนร้ายที่แท้จริงอีกด้วย