จำได้ไหม "ซินแสโชกุน" ขายตรง ลอยแพทัวร์ญี่ปุ่น อุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4,355 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีบริษัทขายตรงอาหารเสริม "ซินแสโชกุน" ลอยแพดาวน์ไลน์ ทิ้งเคว้งหลายร้อยคนกลาางสนามบินสุวรรณภูมิ ลวงพาทัวร์ญี่ปุ่น ทั้งที่ทัวร์ไม่มีจริง ต่อมาตำรวจับกุมขบวนการทัวร์ตุ๋น ของซินแสโชกุนและพวก จับกุม คุมขัง ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ล่าสุดวันนี้ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม  ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.2176/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด  น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน อายุ 34 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ นางมณฑญาณ์ นิรันดร หรือจันทร์ฉาย นาคฤทธิ์ อายุ 60 ปี มารดาของซินแสโชกุน นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 26 ปี ลูกพี่ลูกน้องของซินแสโชกุน  น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 39 ปี เลขานุการและคนรักของซินแสโชกุน นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 44 ปี รองประธานบริษัท, นางณิชมน แสงประภา อายุ 68 ปี ป้าของซินแสโชกุน และเป็นมารดาของนายก้องศรัณย์  นางพารินธรญ์ หงส์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 39 ปี ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท  น.ส.สุดารัตน์ อเนกนวล อายุ 29 ปี ผู้ดูแลการขาย และนายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 34 ปี คนรักของ น.ส.สุดารัตน์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3, 4, 12

พบลูกทัวร์ถูกลอยแพเที่ยวญี่ปุ่น ตกค้างสุวรรณภูมิต่อเนื่องวันที่ 2

เปิดคลิปเสียง “ซินแสโชกุน” อ้างลูกทัวร์แจ้งความทำให้เรื่องวุ่นวาย

ศาลจำคุก "ซินแสโชกุน" 4,355 ปี ลอยแพเหยื่อทัวร์ญี่ปุ่น-ปรับบริษัท 435 ล้านบาท

เปิดประวัติ “ซินแสโชกุน” เจ้าของบริษัท “เวลท์ เอเวอร์” คือใคร?

และฟ้องจำเลยที่ 2-10 ในความผิดฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นเท็จน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) และเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210

ขณะที่ บจก.เวลท์เอเวอร์ และ น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 1-2 ยังถูกฟ้องอีกในข้อหาร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6 (10), 51 และยังฟ้อง น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานซื้อหรือรับไว้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรฯ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ด้วย

ท้ายฟ้องอัยการยังขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 51 ล้านบาทเศษ คืนให้กับผู้เสียหาย 871 คน พร้อมดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องคดีวันที่ 6 ก.ค. 2560 หลังจากที่จำเลยชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2560 โดยอ้างว่าจะมีสิทธิได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง แต่มีผู้เสียหายหลายร้อยรายไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากไม่มีสายการบินเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามวันเวลาที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงติดค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ม.ค. - 11 เม.ย. 2560  ซินแสโชกุน จำเลยที่ 2 ได้มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม MASTERMIND ชนิดแคปซูล รวม 425 กระปุก กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม GENESIS รวม 50 กระป๋อง รวมทั้งอาหารเสริม SMART KIDS รวม 31 กระป๋อง โดยรู้อยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตในต่างประเทศ โดยมีผู้อื่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังไม่ได้เสียภาษี หรือผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง รวมมูลค่าสินค้าและอากรที่ต้องจ่าย 945,131 บาท

ซินแสโชกุน - จำเลยที่ 10 ได้สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กระทำผิดเป็นซ่องโจรร่วมกันฉ้อโกงประชาชน แสดงข้อความอันเป็นเท็จ โฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปผ่านเพจเฟซบุ๊ก "WealthEver For Life" เว็บไซต์ยูทูปและแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม เชิญชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับพวกจำเลย จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมของบริษัท ALLYSIAN (แอลลี่เชี่ยน) ซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ รวมทั้งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูง และมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้สมาชิกเดินทางไปเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10 - 15 เม.ย. 2560 และ 11- 16 เม.ย. 2560 โดยเครื่องบิน Airbus A330-300 ขนาด 377 ที่นั่ง ของสายการบินคาร์เธ่ แปซิฟิก รวม 6 ลำ จนมีประชาชน 871 ราย หลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนทำธุรกิจกับบริษัทจำเลยที่ 1 กับพวกได้รับความเสียหายจำนวนมาก เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธทั้งชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่า การกระทำของ บจก.เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 1, น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2, น.ส.ทัศย์ดาว จำเลยที่ 5 และ นางพารินธรญ์ จำเลยที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เฉพาะจำเลยที่ 1-2 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ซึ่งการกระทำฐานฉ้อโกงและการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมฯ จำคุก ซินแสโชกุน จำเลยที่5, 8 คนละ 871 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 4,355 ปี ให้ปรับบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 435,500,000 บาท และให้ปรับจำเลยที่ 1-2 รายละ 20,000 ตามความผิด พ.ร.บ.อาหาร จึงรวมโทษปรับบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แล้ว ให้จำคุกจำเลยได้สูงสุดคนละ 20 ปี

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2, 5, 8 ร่วมกันชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 871 ราย มูลค่ากว่า 51 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ริบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของกลางจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยที่ 2, 5, 8 ร้อยละ 25 ของค่าปรับจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 6, 7, 9, 10

ต่อมา น.ส.พสิษฐ์ หรือซินแสโชกุน กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ จำเลยที่ 2, นางพารินธรญ์ ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท จำเลยที่ 8 ยื่นอุทธรณ์สู้คดี วันนี้ศาลเบิกตัวซินแสโชกุนน.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 39 ปี เลขานุการและคนรักของซินแสโชกุน และจำเลยที่ 8 มาจากทัณฑสถาน ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 6, 9, 10 เดินทางมาฟังคำพิพากษา 

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนอุทธรณ์ของซินแสโชกุน ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนที่อัยการโจทก์อุทธรณ์ นางประนอม จำเลยที่ 6 และ น.ส.สุดารัตน์ จำเลยที่ 9 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1-2 มีการโฆษณากล่าวอ้างว่าสามารถพาไปเที่ยวต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง การทำธุรกิจนี้มีการจัดประชุมและสัมมนาหลายครั้ง จำเลยที่ 6, 9 ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทและพนักงานบริษัท ได้เข้าร่วมประชุมหลายครั้ง น่าจะทราบว่าการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1-2 ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังร่วมกันช่วยเหลือให้ดำเนินการต่อไปได้ และหากจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 เชื่อมั่นว่าตนเองบริสุทธิ์จริง ก็ควรจะเข้ามอบตัวสู้คดีกับพนักงานสอบสวน แต่กลับเดินทางไปที่ จ.ระนอง พร้อมกับจำเลยที่ 2

ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1-2 ให้กระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จำคุกจำเลยที่ 5, 6, 8, 9  คนละ 2,903 ปี 4 เดือน แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ขณะที่ซินแสโชกุน ยืนตามชั้นศาลต้น จำคุก 4,355 ปี 

ศาลตรวจหลักฐานลอยแพทัวร์ญี่ปุ่น “คดีซินแสโชกุน”

สุวรรณภูมิวุ่น !! ลูกทัวร์ไปญี่ปุ่นถูกลอยแพนับพันคน

ตร.เตรียมสรุปคดี "โชกุน" ก่อนส่งอัยการพิจารณาสำนวนคดี

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ