"พิศิษฐ์" ชี้ อบต.ราชาเทวะใช้งบฯสิ้นเปลือง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประเด็นเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ยังไม่จบ ล่าสุดทีมข่าวเปิดใจ “นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯสตง.” ที่เคยตรวจสอบ นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ยืนยันว่า เสาไฟกินรีเข้าข่ายใช้จ่ายงบประมาณสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ขณะที่จุดติดตั้งเสาไฟที่เป็นพื้นที่รกร้างหญ้าขึ้นสูงเท่าเอว หลังทีมข่าวนำเสนอไป วันนี้ นายก อบต.ราชาเทวะ สั่งให้คนเข้าไปถางหญ้าแล้ว

ภาพเปรียบเทียบ จุดที่ทีมข่าวเข้าไปบันทึกภาพและนำเสนอข่าวเมื่อวานนี้(15มิ.ย.) ที่พบว่ามีเสาไฟกินรี แต่พื้นที่รกร้าง มีหญ้าขึ้นสูงโดยวันนี้ นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ บอกกับทีมข่าวว่าหลังติดตามข่าวและพบว่าเรื่องนี้ถูกวิจารณ์หนัก วันนี้ (16มิ.ย.) จึงสั่งคนเข้าไปถางหญ้าเรียบร้อยแล้ว

เมื่อทีมข่าวไปดูพื้นที่ล่าสุด เมื่อช่วงบ่าย พบว่า พื้นที่ถูกถางหญ้าแล้ว  แต่ก็ยังไม่ปรากฎว่า มีถนนอยู่ในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ด้านในสุดก็ไม่ได้มีบ้านคนอยู่

อบต.ราชาเทวะ วงแตก เลื่อนเคาะซื้อเสาไฟกินรีเพิ่ม

อบจ.อ่างทอง แจงเสาไฟริมทาง ต้นละ 8.3 หมื่น

นายก อบต.ราชาเทวะ ชี้แจงการตั้งเสาไฟในพื้นที่รกร้าง ว่าการติดตั้งทั้งหมด ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ที่ผ่านมาดูแลตัดหญ้าตลอด แต่เพราะช่วงนี้เป็นหน้าฝน จึงทำใหญ่หญ้าขึ้นเร็ว พร้อมยืนยันว่า ช่วงที่มีการวางแนวเสาไฟกินรี มีแผนจะทำถนนในภายหลัง แต่ทำเสาก่อน เพราะกลัวปักเสาบนถนนแล้วถนนจะชำรุด

นอกจากนี้ยังย้ำว่า การทำโครงการเสาไฟกินรี ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เกิดขึ้นจากประชาชนในพื้นที่ อยากได้เสาไฟ โดยประชาชนขอให้บรรจุโครงการนี้ในแผนพัฒนาตำบล

จากนั้น คณะกรรมการพัฒนาแผน จึงนำเรื่องนี้เสนอนายก อบต. เพื่อขอความเห็นชอบจากสภา อบต. อนุมัติงบประมาณ

วัดระยะห่างเสาไฟกินรี พบ ไม่ตรงค่ามาตรฐาน

ส่วนกรณีที่ทีมข่าวพีพีทีวีตรวจสอบพบมีเสาไฟกินรี ตั้งอยู่ในรั้วบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ในพื้นที่ นายทรงชัย ระบุว่า เนื่องจากบ้านหลังดังกล่าวก่อสร้างชิดถนน ซึ่งตามกฎหมายแล้วจริง ๆ ต้องเว้นระยะให้สามารถปักเสาไฟได้ เมื่อไม่มีการเว้นระยะ ทาง อบต. จึงขออนุญาตเจ้าของที่ปักเสาไฟในรั้วบ้านเพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้ที่สัญจรไปมา  เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมจึงไม่ให้เจ้าของบ้านปรับปรุงพื้นที่ เพราะทำผิดกฎหมาย นายทรงชัย ระบุว่า ในเมื่อสร้างไปแล้วจะให้รื้อออกก็กลายเป็นอีกปัญหา จึงอะลุ่มอล่วยกัน พร้อมบอกอีกว่า มีเสาไฟที่อยู่ในพื้นที่เอกชนแบบนี้ แค่ไม่กี่ร้อยต้น เทียบกับจำนวนเสาทั้งหมด 6,000 กว่าต้น ถือว่าน้อยมาก

ทีมข่าวพีพีทีวี ตรวจสอบ เอกสารจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟกินรี อย่างน้อย 3 สัญญา มีข้อมูลน่าสนใจ คือ ในเอกสารระบุว่า ผู้ที่ยื่นข้อเสนอทำโครงการ จะต้องส่งตัวอย่าง “เสาไฟกินรี” 1 ชุด และ รายละเอียดประกอบการอธิบาย ภายใน 1  วัน นับถัดจากวันเสนอราคาโดยเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อสอบถามเรื่องนี้กับ นายก อบต.ราคาเทวะ ระบุว่า การกำหนดกรอบเวลาทั้งหมดเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ ยืนยันว่ามีเวลาล่วงหน้าให้บริษัทได้เตรียมตัว

แต่จากที่ทีมข่าวตรวจสอบเอกสาร พบ ผู้ยื่นเสนอตัวทำโครงการจะมีเวลา ทำเสากินรีตัวอย่าง มากสุด คือ ประมาณ 1 เดือนน้อยสุด คือ มีเวลา 8 วันโดยในโครงการ18 เม.ย. 62 จัดซื้อเสาไฟกินรี 1,811 ต้น มีเวลา รวม 36 วัน ที่จะทำเสาตัวอย่าง หรือ โครงการ 15 พ.ย. 62 จัดซื้อเสาไฟกินรี 600 ต้น มีเวลา 35 วัน ที่จะทำเสาตัวอย่าง

ป.ป.ช.สั่งสอบ ประติมากรรมเสาไฟฟ้า

แต่ โครงการ เสาไฟกินรี 536 ต้น 7 เม.ย.63 พบว่า มีเวลาทำเสาตัวอย่างก่อนส่ง แค่ 8 วัน เพราะ นัดยื่นซองวันที่ 14 เม.ย. และให้ส่งตัวอย่างวันที่ 15 เม.ย.

ทั้งหมดนี้ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า บริษัทใดที่จะร่วมประกวดราคาโครงการทำเสาไฟกินรี อาจจะต้องมีเสากินรีอยู่แล้ว หรือมีแบบทำอยู่แล้ว เพราะ ระยะเวลาทำตัวอย่างน้อยมาก

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯสตง.ให้สัมภาษณ์ พิเศษ ทีมข่าวพีพีทีวี  ในฐานะที่เคยตรวจสอบ อบต.ราชาเทวะหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการติดตั้งเสาไฟกินรี ตั้งแต่ปี 2556 

นายพิศิษฐ์ บอกว่า สตง. เคยตรวจสอบ เรื่อง ความจำเป็นในการติดตั้งเสาไฟกินรี ว่า เหมาะสมกับพื้นที่  และ สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินหรือไม่

จากนั้น พบว่า หลายจุดติดตั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นระยะห่างของเสาไฟถี่เกินไป ติดตั้งในพื้นที่ทับซ้อนกับกรมทางหลวง  คือ ไปซ้อนกับไฟส่องสว่างที่กรมทางหลวงติดตั้งไว้ และ พบว่า “การนำประติมากรรมมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเสาไฟส่องสว่าง เป็นการใช้จ่ายงบประมาณสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น”

หลังได้ข้อสรุปจากการตรวจสอบจึงเห็นว่าพฤติการณ์ของ อบต.ราชาเทวะ มีการใช้จ่ายเงินส่อไปในการก่อให้เกิดความเสียหาย จากการใช้จ่ายเงินเกินความจำเป็นเหมาะสม 

นายพิศิษฐ์ ยังบอกอีกว่า หลังสรุปพฤติการณ์ของ อบต.ราชาเทวะ ทั้งหมดแล้ว สตง. แจ้งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช. ให้ตรวจสอบ เรื่องการฮั้วประมูล รวมถึง แจ้งไปที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบเรื่องคดีอาญา แจ้งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. นำมาสู่การออกคำสั่ง ตามมาตรา 44 ปลดนายก อบต.ราชาเทวะ  และ แจ้งไปที่ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ แต่เพราะ นายก อบต.ราชาเทวะ ถูกปลดก่อน จึงทำให้จังหวัดสมุทรปราการยังไม่ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบ

สำหรับประเด็นเรื่องการฮั้วประมูล นายพิศิษฐ์ แสดงความเห็นว่า ข้อมูลที่ สตง.ตรวจสอบ สามารถตั้งข้อสังเกตได้ ว่า มีความผิดปกติหลายอย่าง  เช่น การกำหนดสเป็กของเสาไฟ เพื่อให้ตรงกับคุณสมบัติของบริษัทเอกชนที่รับงาน  การเสนอราคาของเอกชนที่เข้ามาร่วมแข่งขันมีส่วนต่างๆน้อยจนผิดปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุทำให้ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อ

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ