หมดอำนาจควบคุม! กรมพินิจฯ ปล่อยตัวเด็ก 14 ส่งไม้ต่อรักษาสถาบันกัลยาณ์ฯ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ตำรวจส่งสำนวนฟ้องเด็ก 14 ไม่ทัน กรมพินิจฯ หมดอำนาจควบคุม ต้องงดสอบสวน-ปล่อยตัวเด็กวันนี้ ประสานพ่อแม่รักษาต่อสถาบันกัลยาณ์

ข่าวดังข้ามปี 2566 : คนไทยผวา! ซ้ำ วัยรุ่น 14 ปี กราดยิงกลางห้างพารากอน

โฆษกอัยการ ฟันธง สอบสวนเด็ก 14 ยิงในห้างพารากอนมิชอบ

จากกรณีที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว ได้คืนสํานวนการสอบสวน คดีเด็กอายุ 14 ก่อเหตุยิงปืนด้วยอาวุธแบลงกันท์ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 5 คน ต่อมาได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากพนักงานสอบสวนยังสอบปากคำ และไม่ส่งสำนวนให้อัยการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 อาจจะต้องปล่อยตัวเด็ก

หมดอำนาจควบคุม! กรมพินิจฯ ปล่อยตัวเด็ก 14 ส่งไม้ต่อรักษาสถาบันกัลยาณ์ฯ รายการเที่ยงทันข่าว วันที่ 1 ม.ค. 67
เปิดเผยความคืบหน้าคดีเด็ก 14 ก่อเหตุยิงที่ศูนย์การค้าพารากอน

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากทางพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวแล้วว่า พนักงานสอบสวน ไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อส่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาล ในคดีดังกล่าวได้ทัน จึงใช้วิธีการตาม ป.วิ อาญา งดการสอบสวน ดังนั้นกรมพินิจฯ ก็ไม่สามารถควบคุมตัวได้ตามกฎหมาย ซึ่งอำนาจการควบคุมตัวจะครบกำหนดเวลา ในเที่ยงวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ประสานให้พ่อแม่ของเด็กไปที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในวันนี้ ( 1 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. เพื่อทำแผนประกอบการรักษาอาการป่วยของเด็กต่อ โดยจะมีรองอธิบดีกรมพินิจฯ พร้อมด้วยพ่อแม่ และ แพทย์เข้าร่วมพูดคุย

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อพนักงานอัยการคืนสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไม่สามารถสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานได้จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้ เพราะต้องทำตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 14 ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ว่าพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวนไว้ก่อน จนกว่าที่ผู้ต้องหาจะหายจากอาการป่วย และต่อสู้คดีได้ โดยจะต้องรอการประเมินการตรวจรักษาของแพทย์เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย ก็ต้องปล่อยตัวเด็กจากการควบคุมของสถานพินิจฯ ซึ่งคณะแพทย์และกลุ่มสหวิชาชีพจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์สามารถประสานผู้ปกครองเด็กเพื่อรับตัวไปบำบัดรักษา หรืออาจบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 และ 36 ได้ โดยสามารถรับผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเด็กและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กและสังคม

จากนั้นทางแพทย์จะมีการส่งผลประเมินให้กับพนักงานสอบสวนทราบทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายสู่สภาวะปกติแต่ถ้าเด็กหายป่วยก่อนกำหนด 180 วัน ก็สามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบได้ทันทีเพื่อจะหยิบยกคดีขึ้นทำการสอบสวนต่อไป โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี

นายประยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ต้องเชื่อมั่นในการทำงานของแพทย์เพราะลักษณะการทำงานเป็นกลุ่มสหวิชาชีพ ที่มาประเมินผลร่วมกันทั้งบำบัดรักษาและควบคู่ไปกับการทำงานด้านนิติจิตเวทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ยืนยันว่าตั้งแต่เกิดเหตุเด็กยังเป็นคนไข้ในอยู่ในการรักษาของสถาบัน ซึ่งเงื่อนไขทางกฎหมายมี 2 ประการ คือ 1.) ป่วยเจ็บ 2.) ต่อสู้คดีได้หรือไม่ ถ้า 2 เงื่อนไขนี้ยังมีอยู่ ป.วิอาญา ก็ห้ามดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนหรือพิจารณาของศาล

"7 วันอันตรายปีใหม่ 2567” วันที่สาม รวมเจ็บทะลุพัน เสียชีวิตหลักร้อย

"7 วันอันตรายปีใหม่ 2567” วันที่สาม รวมเจ็บทะลุพัน เสียชีวิตหลักร้อย

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ