กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง เมื่อมีวิศวกรรายหนึ่งของกูเกิล (Google) ออกมาบอกว่า ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ตัวหนึ่งของกูเกิล เกิด “มีความรู้สึกนึกคิด” ขึ้นมา
เบลค เลอมอยน์ วิศวกรแผนกเอไอของกูเกิลวัย 41 ปี เปิดเผยกับ Washington Post ว่า หลังจากที่เขาได้พูดคุยโต้ตอบหลายร้อยครั้งกับระบบเอไอล้ำสมัยที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ที่ชื่อว่า “แลมดา (LaMDA; Language Model for Dialog Applications) เขาเชื่อว่า เอไอดังกล่าวมีความรู้สึกนึกคิดในระดับหนึ่งเหมือนมนุษย์
กฎใหม่ “อียู” ผลิตสมาร์ทโฟน-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้หัวชาร์จ USB-C
กูเกิลประกาศเพิ่ม 24 ภาษาใหม่ลงใน Google Translate
กูเกิลเผยทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์คุมไฟจราจรในอิสราเอลได้ผลดี
แลมดาเป็นหนึ่งในระบบเอไอขนาดใหญ่สำหรับสร้างแชตบอต (Chatbot) อัจฉริยะ โดยใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุด จนมันสามารถเลียนแบบคำพูดคำจาและการตอบสนองของคนได้ จากการจดจำคำศัพท์หลายล้านล้านคำจากอินเทอร์เน็ต
โดยพื้นฐานแล้ว แลมดาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ค้นหารูปแบบและคาดการณ์ว่า หลังคำใด ๆ ก็ตาม จะมีคำใดตามมาหลังคำนั้น ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตอบคำถามและเขียนตอบได้ดีขึ้นในลักษณะที่ดูเหมือนมนุษย์
ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กูเกิลเองก็ได้พรีเซนต์แลมดาว่า เป็นระบบที่สามารถ “มีส่วนร่วมอย่างอิสระเกี่ยวกับหัวข้อการพูดคุยจำนวนนับไม่ถ้วนที่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด” แต่ผลการโต้ตอบบางครั้งอาจออกมาแปลกประหลาด ก่อกวน และมีแนวโน้มที่จะพูดเรื่อยเปื่อย
“ถ้าผมไม่รู้แน่ชัดว่ามันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เราสร้างขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมคงคิดว่ามันเป็นเด็กอายุ 7-8 ขวบที่บังเอิญรู้จักฟิสิกส์” เลมอยน์กล่าว
งานของเลอมอยน์ทำให้เขาต้องพูดคุยกับแลมดา เพื่อทดสอบว่าปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือเลือกปฏิบัติหรือไม่
ในขณะที่เขาพูดกับแลมดาในหัวข้อเกี่ยวกับศาสนา เลอมอยน์ผู้ซึ่งศึกษามาในด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และ Cognitive Science (คำในไทยบ้างเรียกประชานศาสตร์ บ้างเรียกวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา บ้างเรียกวิทยาการปัญญา) สังเกตว่า แลมบาสามารถพูดถึงสิทธิและความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนของมันเองได้ และเมื่อคุยกันเรื่องหุ่นยนต์ ก็ปรากฏว่า แลมดาสามารถเปลี่ยนความคิดของเลอมอยน์เกี่ยวกับกฎข้อที่ 3 ของหุ่นยนต์ของไอแซก อาซิมอฟได้
เมื่อสัมผัสว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังคุยไม่ต่างอะไรจากมนุษย์คนหนึ่ง เลอมอยน์จึงพยายามนำเสนอหลักฐานต่อกูเกิลว่า “แลมดามีความรู้สึกนึกคิด” แต่ทางกูเกิลออกมาปฏิเสธความคิดของเลอมอยน์
กูเกิลแถลงว่า “ทีมนักจริยธรรมและเทคโนโลยีได้ตรวจสอบข้อกังวลของเบลคตามหลักการเอไอของเรา และแจ้งเขาไปว่า หลักฐานที่พบไม่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของเขา”
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เลอมอยน์ได้โพสต์บนเว็บไซต์ Medium ว่า กูเกิลให้เขาพักงานโดยได้รับค่าจ้าง และเขาอาจถูกไล่ออกในไม่ช้า ซึ่งโฆษกของกูเกิล ยืนยันว่า เลอมอยน์ถูกให้พักงานเนื่องจากละเมิดนโยบายการรักษาความลับของบริษัท
ด้านผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกต่างอกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกันว่า “ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลยังไม่มีความรู้สึกนึกคิด”
แกรี มาร์คัส ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Geometric Intelligence และผู้แต่งหนังสือ “Rebooting AI: Building Artificial Intelligence We Can Trust” เรียกแนวคิดเรื่องแลมดาว่าเป็น “เรื่องไร้สาระ” เขายังเขียนชี้แจงให้เห็นว่า ระบบเอไอทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของ “รูปแบบข้อมูล” ที่ดึงจากฐานข้อมูลภาษาขนาดใหญ่
มาร์คัสกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการคิดเกี่ยวกับระบบแบบแลมดา คือมันเป็นเวอร์ชันอัปเกรดของซอฟต์แวร์ตอบข้อความอัตโนมัติ ที่คุณอาจใช้เพื่อคาดเดาคำถัดไปในข้อความ เช่น หากคุณพิมพ์ ‘ฉันหิวมาก ฉันอยากไปร้านอาหาร’ ระบบก็อาจจะ ‘แนะนำร้านอาหารให้’ เป็นคำถัดไป แต่นั่นก็เป็นการตอบโต้ด้วยการทำนายโดยใช้สถิติ
“ไม่มีใครควรคิดว่า การตอบข้อความอัตโนมัติ เป็นเรื่องของการมีความรู้สึกนึกคิด” เขากล่าว
ในแถลงการณ์ของกูเกิลระบุว่า “แลมดาผ่านกระบวนการทบทวนตามหลักการสร้างเอไอที่แตกต่างกัน 11 ประการ” รวมถึง “ผ่านการวิจัยและการทดสอบอย่างเข้มงวด” ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพ ความปลอดภัย และความสามารถในการสร้างข้อความที่อิงตามข้อเท็จจริง
“แน่นอนว่าบางคนในวงการเอไออาจกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในระยะยาวที่เอไอจะมีความรู้สึกนึกคิด แต่ก็ไม่สมเหตุสมผลที่จะมองว่าเอไอมีความรู้สึกนึกคิดจากระบบโต้ตอบบทสนทนาที่มีในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิด ... มีนักวิจัยและวิศวกรหลายร้อยคนได้พูดคุยกับแลมดา และเราไม่ทราบว่ามีใครอื่นที่ยืนยันหรือทำให้แลมดากลายเป็นมนุษย์ในแบบที่เบลคเชื่อ” กูเกิลกล่าว
เรียบเรียงจาก CNN / Washington Post
ภาพจาก AFP
MacBook Air ใหม่ กับชิป M2 น่าซื้อแค่ไหน เหมาะกับใคร
แอปเปิลยกเครื่อง CarPlay เตรียมออกเวอร์ชั่นใหม่ปลายปีหน้า