นับตั้งแต่ที่ OpenAI เปิดตัวแชตบอตอัจฉริยะ ChatGPT เมื่อเดือน พ.ย. 2022 สงครมาการแข่งขันเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ก็ปะทุขึ้นอย่างดุเดือด ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีรายใหญ่หลายเจ้าพากันออกมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์เอไอของตัวเอง
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) กูเกิลได้จัดงานประชุมนักพัฒนาซอฟท์แวร์ประจำปีหรือ Google I/O ซึ่งไฮไลท์เด็ดคือการเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในบริการค้นหาข้อมูลหลัก หรือก็คือหน้าเสิร์ชที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งจะยกระดับการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้ไปอีกขั้น
ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอัลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ระบุว่า ระบบเอไอนี้มีชื่อว่า “Search Generative Experience” มันสามารถตอบคำถามปลายเปิดได้ทันทีในระหว่างการแสดงผลการค้นหา ซึ่งการนำเทคโนโลยีเอไอนี้มาใส่ในระบบค้นหาจะช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ใช้งานทั้งในระดับบุคคลและธุรกิจต่าง ๆ
ประเด็นที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการอัปเกรดนี้คงจะอยู่ที่ว่า แล้วหน้าตาของกูเกิลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่?
ทั้งนี้ แม้จะมีการนำระบบการค้นหาขั้นสูง Search Generative Experience มาใช้ แต่หน้าตาของเว็บไซต์กูเกิลจะยังคงมีหน้าตา ลักษณะ และหน้าที่ เหมือนแถบค้นหาเดิมที่ทุกคนคุ้นเคย
เปิดตัว “พิกเซล โฟลด์” สมาร์ทโฟนพับได้ตัวแรกของ “กูเกิล”
รู้จัก “Element” แพลตฟอร์มช่วยธุรกิจ “ทำการตลาดแบบเจาะจงบุคคล”
“เฟซบุ๊ก” ยืนยัน “ยังไม่ตาย” แม้ผู้ใช้ที่เป็นคนหนุ่มสาวลดน้อยลงเรื่อย ๆ
ความแตกต่างจะอยู่ที่ “คำตอบ” เท่านั้น โดยหากกูเกิลเวอร์ชันใหม่ตรวจพบว่า คำถามที่เราถามไปนั้นเอไอสามารถให้คำตอบได้ ด้านบนของหน้าผลลัพธ์ก็จะแสดงคำตอบที่สร้างโดยเอไอ ในลักษณะคล้ายกับประโยคบอกเล่าหรือคำแนะนำที่ทำให้เราไม่ต้องไปนั่งไล่ดูเนื้อหาของแต่ละลิงก์
แต่ไม่ได้หมายความว่ากูเกิลจะตัดลิสต์ของลิงก์เว็บไวต์แบบดั้งเดิมไปด้วย เพียงแต่ย้ายไปอยู่ด้านล่างเท่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้อยู่ หากรู้สึกว่าคำตอบที่เอไอมอบให้ยังไม่เพียงพอ
ตัวอย่างเช่น หากค้นหาคำว่า “สภาพอากาศในซานฟรานซิสโก” กูเกิลจะแสดงให้ผู้ใช้เห็นการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 8 วันตามปกติ
แต่หากค้นหาคำว่า “ควรสวมชุดใดในเมืองแคลิฟอร์เนีย” เอไอจะแสดงคำตอบที่ยาวเหยียดให้ “คุณควรเตรียมเสื้อผ้าหลายชั้น เช่น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นและสเวตเตอร์บาง ๆ หรือแจ็คเก็ตสำหรับวันนี้” รวมถึงจะลิสต์ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่รวบรวมคำแนะนำอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน
ผู้ใช้ยังสามารถเข้าสู่ “โหมดการสนทนา” ใหม่ล่าสุด ซึ่งคล้ายกับ ChatGPT คือสามารถตอบคำถามของผู้ใช้ได้แบบเป็นประโยคเป็นเรื่องเป็นราว รวมถึงจะจดจำคำถามก่อนหน้าของผู้ใช้ เพื่อให้การพูดคุยสอบถามมีความต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บริษัทชี้ให้เห็นว่าโหมดการสนทนาไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นแชตบอตมี “บุคลิกภาพ” เหมือนอย่าง ChatGPT คือจะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยปรับปรุงผลการค้นหาเท่านั้น จะไม่มีการใส่ความเห็น อคติ หรือความเป็นตัวตนลงไปในคำตอบ
อย่างไรก็ตาม พวกเราที่อยู่ในไทยจะยังคงไม่ได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงนี้ของกูเกิล เพราะระบบ Search Generative Experience จะเริ่มเปิดทดลองใช้งานที่สหรัฐฯ เท่านั้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ เพื่อให้กูเกิลได้ติดตามข้อมูลในด้านคุณภาพการใช้งาน ความเร็ว และค่าใช้จ่ายในการแสดงผลค้นหา จากนั้นจึงจะขยายการใช้งานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคตหากผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับกูเกิลหลังมีการนำระบบเอไอมาใช้ มีดังนี้
- หน้าตาการใช้งานเหมือนเดิม มีแถบให้ผู้ใช้พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหาลงไป
- ผลลัพธ์ของการค้นหา ข้างบนจะออกมาเป็นคำตอบของเอไอ ส่วนรายการลิงก์เว็บไซต์ต่าง ๆ แบบที่เราคุ้นเคยจะอยู่ข้างล่าง
- มีโหมดการสนทนาเพิ่มเข้ามา
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก AFP