เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำตัดสินว่า ธุรกิจการเสิร์ชหรือการค้นหาข้อมูลของ “กูเกิล” (Google) ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ละเมิด “กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ”
ผลการตัดสินนี้ทำให้กูเกิลแพ้คดีที่มีโอกาสจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาข้อมูลทางออนไลน์ของชาวอเมริกันหลายล้านคน และโค่นล้มมหาอำนาจที่ครองตลาดมานานหลายทศวรรษ
ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ อามิต เมห์ตา ระบุในคำชี้แจงว่า “หลังจากพิจารณาและชั่งน้ำหนักคำให้การของพยานและหลักฐานอย่างรอบคอบแล้ว ศาลได้ข้อสรุปดังนี้ กูเกิลเป็นผู้ผูกขาด และได้ดำเนินการเพื่อรักษาการผูกขาดเอาไว้ บริษัทได้ละเมิดมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติเชอร์แมน”
คำตัดสินของศาลแขวงสหรัฐฯ ประจำเขตโคลัมเบียเป็นการตำหนิธุรกิจที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของกูเกิลอย่างที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
ที่ผ่านมา กูเกิลซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทอัลฟาเบต (Alphabet Inc.) ได้ใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในการทำสัญญาพิเศษเพื่อรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการค้นหาเริ่มต้น (Default) บนสมาร์ทโฟนและเว็บเบราว์เซอร์
เช็กโปรแกรมกีฬาโอลิมปิก 2024 เวลาแข่งขัน Olympic 2024 วันที่ 6 ส.ค.67
เปิดประวัติ "บี" จันทร์แจ่ม นักมวยสากลหญิงไทย ในศึกปารีสเกมส์ 2024
ผ้าคลุมรถกันความร้อน และ 4 ไอเทมที่ช่วยทำให้รถดูสวยใหม่ตลอดเวลา
สัญญาดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถปิดกั้นคู่แข่ง เช่น Bing และ DuckDuckGo ของไมโครซอฟต์ (Microsoft)
เมห์ตากล่าวว่า ตำแหน่งที่มีอำนาจดังกล่าวได้นำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันที่ต้องยุติลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงพิเศษของกูเกิลกับแอปเปิล (Apple) และผู้เล่นหลักรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมมือถือ ถือเป็นการต่อต้านการแข่งขัน นอกจากนี้ กูเกิลยังเรียกเก็บค่าโฆษณาบนเครือข่ายการค้นหาในราคาที่สูง ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจผูกขาดในการค้นหาข้อมูล
สัญญาดังกล่าวทำให้เมื่อผู้ใช้ต้องการค้นหาข้อมูล กูเกิลมักจะเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ขนาดใหญ่ของกูเกิลเติบโต
แม้ว่าศาลจะไม่พบว่ากูเกิลผูกขาดโฆษณาบนเครือข่ายการค้นหา แต่ความเห็นโดยรวมนไปสู่การตัดสินใจดังกล่าว
คดีนี้ถูกระบุว่าเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ฟ้องคดีกฎหมายต่อต้านการผูกขาดกับไมโครซอฟต์ในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษเมื่อราวปี 2000
ด้านทำเนียบขาวเรียกคำตัดสินนี้ว่าเป็น “ชัยชนะของชาวอเมริกัน”
โฆษกทำเนียบขาว คารีน ฌอง-ปิแอร์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “อย่างที่ประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริสกล่าวมาโดยตลอด ชาวอเมริกันสมควรได้รับอินเทอร์เน็ตที่เสรี ยุติธรรม และเปิดกว้างสำหรับการแข่งขัน”
หลังการตัดสินคดีครั้งนี้ คาดว่าจะต้องมีการดำเนินการแยกต่างหากเพื่อพิจารณาว่า กูเกิลจะต้องเผชิญกับบทลงโทษใดบ้าง
หลังจากนั้น บริษัทมีแนวโน้มที่จะยื่นอุทธรณ์เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าที่จะเกิดผลใด ๆ ก็ตาม
แต่สุดท้ายแล้ว คำตัดสินนี้อาจพลิกโฉมวิธีที่กูเกิลเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงเครื่องมือค้นหาได้ โดยส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำข้อตกลงราคาแพงกับผู้ผลิตอุปกรณ์และผู้ให้บริการออนไลน์
รีเบกกา อัลเลนส์เวิร์ธ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ กล่าวว่า อาจมีแนวทางแก้ไขอื่น ๆ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ศาลอาจบังคับให้กูเกิลดำเนินการ “หน้าจอตัวเลือก” (Choice Screen) เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเกี่ยวกับเครื่องมือค้นหาอื่น ๆ ที่มีอยู่
เธอเสริมว่า นอกจากนี้ บริษัทอาจต้องเผชิญกับค่าปรับทางการเงิน แม้ว่าค่าปรับจะ “ไม่ใช่วิธีหลักที่ระบบต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ ใช้ในการบังคับใช้กฎหมายก็ตาม” เนื่องจากค่าปรับมักจะเป็นเพียง “หยดน้ำในมหาสมุทรสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำกำไรมหาศาลอย่างกูเกิล”
เรียบเรียงจาก CNN