เปิดจุดเช็กอินคว้ารางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมดีเด่น ‘ฉุยฟง คาเฟ่ 2’ สถานที่นั่งจิบชา ชมไร่ที่ถูกออกแบบเพื่อเป็นมิตรกับคนทั้งมวล
ธุรกิจคาเฟ่เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังมาแรงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านคาเฟ่แบบสวย ๆ ชวนให้น่าถ่ายรูป หรือร้านคาเฟ่ติดธรรมชาติ แต่หากจะมองหาชาดีกับงานดีไซน์ที่มีอะไรมากกว่าตาเห็น ‘ฉุยฟง คาเฟ่ 2’ นับเป็นอีกหนึ่งคาเฟ่ที่ไม่ควรพลาด
เพราะที่แห่งนี้คว้ารางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสำนักงานและพาณิชยกรรม ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มาหมาด ๆ
เที่ยว “ทุ่งนามอญ” เดินสะพานไม้ชมทุ่งนา กินข้าวแช่สูตรโบราณ
เสน่ห์เกาะพะงัน ติดอันดับโลกไม่มีตก
ไร่ชาฉุยฟง แลนด์มาร์กสำคัญในเชียงราย
บนพื้นที่ไร่ชากว่า 1,200 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อขับรถขึ้นไประหว่างทางขึ้นดอยแม่สลองนั้น จะเห็นคาเฟ่สไตล์โมเดิร์น ทรอปิคอล ที่ผ่านการออกแบบมาจากสถาปนิก ‘IDIN Architects’ เอาไว้คอยรองรับนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาชิมเค้กชาเขียว หรือนั่งจิบชาร้อน ๆ พักผ่อนให้คลายเหนื่อย ไปกับทิวทัศน์ของไร่ชาสีเขียวอันสวยงามที่อยู่เต็มบริเวณพื้นที่
หลังจากที่ ‘ฉุยฟง คาเฟ่’ เปิดตัวในปี 2015 ไร่ชาแห่งนี้ก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากและกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดเชียงราย ด้วยเหตุนี้อาคารเดิมจึงไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เพียงพอ โครงการ ‘ฉุยฟง คาเฟ่ 2’ จึงเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่ส่วนต่อขยายสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้น
อาคารอารยสถาปัตย์ที่มีดีมากกว่าคำว่าสวย
สำหรับ ‘ฉุยฟง คาเฟ่ 2’ ตั้งอยู่ที่เนินเขาถัดไปจากเฟส 1 โดยเนินเขานี้เป็นที่ตั้งของโรงงานชาหลัก และร้านขายของดั้งเดิม ต่อมาเมื่อต้องการสร้างเฟส 2 นี้ จึงมีการรื้อถอนร้านนี้ออก และสร้างใหม่ถัดจากโรงงาน เพื่อหันหน้าออกรับวิวไร่ชา
เนื่องจาก ชัญญ่า วนัสพิทักษกุล เจ้าของโครงการ ต้องการให้นักท่องเที่ยวทุกคน ทุกกลุ่ม สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และต้องการให้คาเฟ่เฟส 2 นี้ เป็นอาคารชั้นเดียว เพื่อง่ายต่อการจัดการของพนักงาน ประกอบกับต้องการให้มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ยังอยากให้มีพื้นที่ส่วนนิทรรศการ ที่เล่าประวัติความเป็นมาของไร่ชาฉุยฟง และพื้นที่ส่วนสาธิตวิธีการชงชาด้วย
ส่งผลให้แบบแปลนอาคารมีขนาดค่อนข้างใหญ่ อาคารในเฟส 2 จึงมีลักษณะเป็นผืนสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนเนินเขาติดกับโรงงานขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่กว้างอยู่ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่กลางอาคารค่อนข้างมืด จึงมีการเจาะช่องแสงบนหลังคา เพื่อนำแสงสว่างเข้ามาสู่พื้นที่บริเวณกลางอาคาร อันเป็นส่วนร้านขายของ ส่วนที่นั่งทานอาหาร และคอร์ทต้นไม้
แต่ขณะเดียวกัน ทางเจ้าของก็ไม่ต้องการให้ฝนตกลงมาในอาคาร เพื่อสะดวกต่อการใช้พื้นที่และง่ายต่อการดูแลรักษา Skylight จึงถูกนำมาใช้
แต่แทนที่จะใช้กระจกคลุมช่องแสงทั้งหมด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และมีโครงสร้างรับขนาดใหญ่ ผู้ออกแบบจึงยก Skylight ให้สูงขึ้น โดยยกหลังคาและฝ้าเอียงสอบเข้าทุกด้านเพื่อทำให้ช่องแสงมีขนาดเล็กลง และ Skylight ในแต่ละจุดมีลักษณะการเอียงที่ไม่เท่ากัน เพื่อให้ล้อเลียนไปกับภูเขาโดยรอบ
ไม่เพียงเท่านั้น ฝ้าเอียงที่ถูกออกแบบมานี้ ยังช่วยกระจายแสงจาก Skylight ให้สว่างไปสู่ด้านล่างได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดแสงเงาที่สร้างปรากฎการณ์ในอาคารให้ผู้ใช้อาคารรับรู้และเห็นถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัน นอกจากนี้ วิธีนี้ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างและเพิ่มความสูงสำหรับปลูกต้นไม้ในคอร์ทได้อีกด้วย ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นโครงสร้างขนาดใหญ่ในอาคาร
ส่วนทางเข้าหลักของอาคารนั้น สถาปนิกได้ออกแบบให้เป็นกำแพงหินยาวปิดตลอดแนวด้านหน้าทั้งหมด เหลือเปิดไว้เพียงช่องทางเข้าซึ่ง เปรียบเสมือนปากอุโมงค์ที่มีลมพัดผ่านมาต้อนรับผู้ที่จะเข้ามาในอาคาร และเป็นการบีบพื้นที่ เพื่อให้วิวด้านหลังค่อย ๆ เผยตัวออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชม
แม้บริเวณทางเข้าค่อนข้างมืด แต่จะค่อย ๆ สว่างขึ้นเมื่อเดินเข้าไปจนสุดทาง จากนั้นเราจะเห็นพื้นที่ส่วนนั่งทานอาหาร ที่ค่อย ๆ ลดระดับพื้นลงตาม Slope ของเนินเขาจากด้านในถึงด้านริมนอกของอาคาร และส่วนปีกด้านล่างเองก็ถูกออกแบบเป็นทางลาดเชื่อมพื้นที่ในทุก ๆ ระดับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกคน ทุกกลุ่ม ได้รับความสะดวกสบาย เข้าถึงทุกส่วนได้ และได้ชมทิวทัศน์กันได้อย่างไม่เบียดบังสายตาใคร ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของเจ้าของโครงการที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเมื่อมาเยี่ยมชมที่นี่
การออกแบบที่รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด
ในแง่ความยั่งยืนและสังคม อาคารเฟส 2 นี้ ถูกต่อออกมาใกล้กับโรงงานเดิม โดย ‘IDIN Architects’ ผู้ออกแบบพยายามสร้างโดยรบกวนพื้นที่ปลูกชาเดิมให้น้อยที่สุด
‘IDIN Architects’ เลือกใช้โครงสร้างเหล็ก ในการสร้างเสาและหลังคา เพื่อความรวดเร็วและเบา สามารถถอดรื้อเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม วัสดุในเฟสนี้ ก็ยังคงอิงกับเฟส 1 ที่ใช้วัสดุจริงจากธรรมชาติ เช่น ไม้สน เหล็ก กระจก โดยเพิ่มผนังหินภูเขาเข้ามา เพื่อสะท้อนแนวความคิดเรื่องความออร์แกนิคของไร่ชาฉุยฟงแห่งนี้
แต่ในโซนนั่งทานอาหารทั้งหมดของโครงการ ก็ออกแบบให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี สามารถนั่งได้ทั่วบริเวณ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบปรับอากาศ
รวมถึงมีแสงสว่างที่พอเพียงในเวลากลางวัน ลดการใช้แสงประดิษฐ์ และประหยัดพลังงาน โดยคำนึงถึงเรื่องการดึงแสงธรรมชาติเข้ามาใช้งานในพื้นที่ส่วนในอาคารให้พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป และช่องที่นำแสงสว่างเข้ามาจะมีพื้นที่ให้ความร้อนลอยตัวสูงขึ้นด้านบน ขณะที่บริเวณห้องน้ำเป็นการออกแบบให้เป็นแบบเปิด เพื่อการระบายอากาศที่ดี และสร้างบรรยากาศในการใช้งานอีกด้วย
นอกจากความสวยของไร่ชาฉุยฟงแห่งนี้จะกลายเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญในจังหวัดเชียงรายให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาเยือนแล้ว ยังถูกออกแบบมาอย่างดี สามารถรองรับทุกกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้พิการ ที่สำคัญยังอนุรักษ์ความยั่งยืนอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่น่าลองไปสัมผัสบรรยากาศและยังเป็นต้นแบบของอารยสถาปัตย์เพื่อความเท่าเทียมของสังคม
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์