“อารมณ์ ออร์คิด” ร้านอาหาร-คาเฟ่ในสวนกล้วยไม้ ใต้สถาปัตยกรรมไม้ไผ่ระดับรางวัล ที่นำเอาการออกแบบมาช่วยพลิกธุรกิจ จากซบเซาให้กลายเป็นที่รู้จัก
จากธุรกิจฟาร์มกล้วยไม้ ที่เคยเป็นที่นิยมให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมความงามของพันธุ์ไม้ไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าสวยที่สุด วันหนึ่งกลับต้องซบเซาลง เพราะการแข่งขันกันเองทางธุรกิจ ประกอบกับความสนใจของผู้คนในกล้วยไม้ลดลงตามไปด้วย
“สวนบัวแม่สา” เป็นอีกหนึ่งฟาร์มกล้วยไม้ ที่ริเริ่มมาจากการทำกันเองในครอบครัวเมื่อ 30 ปีก่อน และได้รับผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีผลกำไรและนักท่องเที่ยวลดลง
เปิดจุดเช็กอิน ‘ฉุยฟง คาเฟ่ 2’ ชมไร่ชาคว้ารางวัลดีไซน์ เพื่อคนทั้งมวล
จุดเช็กอิน "เบตง" แหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen สัมผัสทะเลหมอก "อัยเยอร์เวง"
แต่ด้วยจิตใจมุ่งมั่นที่ต้องการจะสานต่อธุรกิจของครอบครัวให้ประสบความสำเร็จดังเก่าก่อน จึงเป็นที่มาให้ นายวีระชัย จำนวน เจ้าของฟาร์มกล้วยไม้ คิดที่จะปรับปรุง และยกระดับฟาร์มกล้วยไม้เดิมให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่ยังสามารถเก็บประสบการณ์การชมสวนกล้วยไม้แบบเดิมเอาไว้ แต่ให้เกิดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
จนกลายมาเป็นโครงการ “อารมณ์ ออร์คิด (Arrom Orchid)” อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่เพิ่งได้รับผลงานรางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสำนักงานและพาณิชยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมถ์ มาหมาด ๆ
“อารมณ์ ออร์คิด” ร้านอาหาร คาเฟ่ในสวนกล้วยไม้
จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการสร้างร่มเงาในเรือนเพาะชำเดิม และการสร้างการรับรู้ ดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปชมฟาร์มกล้วยไม้ในรูปแบบใหม่และทันสมัย แต่ก็ยังมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พื้นที่ฟาร์มกล้วยไม้แห่งนี้ จึงไม่ใช่เพียงพื้นที่เอาไว้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้นานาชนิด หรือพื้นที่เอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมความงามของกล้วยไม้อย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนเท่านั้น ยังเพิ่มส่วนของร้านอาหาร และคาเฟ่เข้ามาด้วย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่ต้อนรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จาก “สวนบัวแม่สา” มาเป็น “อารมณ์ ออร์คิด”(Arrom Orchid)
บนพื้นที่กว่า 432 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ในตอนนี้ จึงแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- ส่วนต้อนรับและขายของที่ระลึก
- ส่วนเรือนเพาะชำ
- ส่วนร้านอาหาร
- ส่วนครัวและส่วนบริการ
ชมกล้วยไม้ใต้สถาปัตยกรรมไม้ไผ่
สำหรับ นายเผดิมเกียรติ สุขกันต์ สถาปนิก ที่ได้รับโจทย์ที่ท้าทายนี้มา เขาต้องเตรียมตัวทำการบ้านค่อนข้างมาก เริ่มจากศึกษาลักษณะเรือนเพาะชำเดิม พบว่า โครงสร้างเรือนเพาะชำเก่ามีการใช้โครงสร้าง “เหล็กกาวาไนซ์” และ เรียงตัวกันในระบบกริด (GRID) คือ มีระยะห่างของเสา 3 เมตร คูณ 3 เมตร และด้านบนทำเป็นโครงเหล็กกาวาไนซ์เช่นกัน แล้วมุงด้วยสแลนสีดำเพื่อทำหน้าที่กรองแสง และเพิ่มความชื้นให้กับพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดการกรองแสงในระดับหลังคา เพียงระนาบเดียว
ด้วย “ไม้ไผ่” ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย และสามารถนำมาคลี่คลายสภาพร่มเงาที่เกิดขึ้นได้ นายเผดิมเกียรติจึงนำไม้ไผ่ไปเป็นส่วนประกอบหลักในการออกแบบโครงสร้างครั้งนี้แทน
เนื่องจากไม้ไผ่มีน้ำหนักเบา และเหมาะสมกับการนำไปใช้ เพราะจะไม่เพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างในส่วนเรือนเพาะชำเดิมมากนัก นอกจากนี้ ยังนำไปปลูกสร้างได้อย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบให้โปร่งแสง หรือทึบแสง ที่สำคัญยังมีความเป็นมิตรกับกล้วยไม้ เพราะจะช่วยขับให้สีสันของกล้วยไม้ให้มีความโดดเด่น และสร้างความกลมกลืนให้กับสภาพแวดล้อมด้วย
ดีไซน์เรียบ แต่ดึงความโดดเด่นของธรรมชาติได้ชัดเจน
บนพื้นที่ทั้งหมด 4 ส่วน ถูกนายเผดิมเกียรติออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยส่วนต้อนรับและขายของที่ระลึก เขาใช้ตัวอาคารเดิม แต่นำมาต่อยอดด้วยการตกแต่งฟังก์ชันภายในใหม่ เพื่อให้อาคารดูใหม่ขึ้น และประหยัดงบประมาณไปในตัว
ส่วนเรือนเพาะชำ และส่วนร้านอาหาร สองส่วนนี้นับเป็นส่วนสำคัญของโครงการ ซึ่งต้องมีทั้งร่มเงา และความสามารถในการรักษาความชื้น อันเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กล้วยไม้เติบโตได้ เขาจึงพยายามแยกฟังก์ชันของการจัดการแสง เพื่อให้เกิดเป็นร่มเงาที่นั่งทานอาหาร ใต้ร่มเงาของไม้ไผ่ และจัดการฝน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคของการทานอาหาร โดยที่ไม่ต้องทำหลังคาปิดทึบเสียทั้งหมด และยังทำให้สามารถรับรู้ความเป็นร่มเงาเดิมของเรือนเพาะชำได้อีก
นอกจากนี้ เขายังอาศัยความเข้าใจวงโควรของดวงอาทิตย์ ที่มีผลกับระยะและมุมการเรียงตัวของแผงบังแดด มาทำให้เกิดปรากฏการณ์ร่มเงาที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาบนโครงการแห่งนี้ด้วย
สำหรับ โครงสร้างใหม่ ที่เกิดขึ้นในส่วนของร้านอาหาร เขาก็ได้เลือกใช้โครงเหล็กที่มี span 6 เมตรแล้วหุ้มด้วยไม้ไผ่ซึ่งมีความเบา และปรับรูปแบบการจัดการแสง ให้หมุนไปตามทิศทางของดวงอาทิตย์ เพื่อหวังผลให้ร่มเงาที่เกิดขึ้นเปลี่ยนไปตลอดทั้งวัน โดยการซ้อนทับกันของเงาในแต่ละเวลา ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ และมีความชื้นที่พอดี เหมาะสมกับการเติบโตของกล้วยไม้
ผลลัพธ์ของการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางสถาปัตยกรรมนี้ ทำให้เกิดโครงการที่ดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่มีปรากฏการณ์ของร่มเงาที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา สร้างประสบการณ์การรับรู้แสงและร่มเงา อีกทั้งยังทำให้กล้วยไม้กลายเป็นส่วนประกอบที่โดดเด่น เข้ามาสร้างสีสันในสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน นับว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าเข้าไปนั่งทานอาหารรสชาติไทยแท้ ๆ สไตล์โบราณแท้ จิบเครื่องดื่มเย็น ๆ คลายร้อน และเดินชมสวนกล้วยไม้ภายใต้สถาปัตยกรรมไม้ไผ่ที่ไม่เหมือนใคร
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมถ์