“เรือนพินรัตน์” สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากความทรงจำในวัยเด็กของเจ้าบ้านต่อบุคคลที่รักที่ล่วงลับไป ผ่านการออกแบบให้ทันยุคสมัย จนกลายเป็นเรือนไม้สไตล์พื้นถิ่นร่วมสมัยที่เชื่อมโยงคนทั้ง 3 รุ่นเอาไว้ด้วยกัน
เพราะอยากให้บ้านกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกถึง “คุณตาคุณยา” บุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวที่ล่วงลับจากไป “วิวัตน์” เจ้าของบ้านจึงนำไม้บางส่วนที่มาจากเรือนบ้านเก่าที่คุณตาคุณยายรื้อทิ้งไปมาใช้รังสรรค์เป็นบ้านหลังใหม่ ที่เรียกขานว่า “เรือนพินรัตน์” ซึ่งเกิดจากการนำชื่อของ คุณตาวิรัตน์ และ คุณยายพิน มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน
“วันสารทจีน” ควรไหว้อะไรบ้าง กับข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติ
เช็กเงื่อนไข ลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่ปี 65
การสร้างบ้านหลังหนึ่ง ส่วนใหญ่ล้วนมาจากความต้องการพื้นฐาน เช่น ความสะดวกสบาย หรือความต้องการขยับขยายครอบครัว แต่บ้านหลังนี้กลับแตกต่างออกไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่เพียงแค่เป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ยังผ่านการคิดอย่างพิถีพิถันว่าเมื่อเรือนพินรัตน์สร้างเสร็จ วิวัฒน์จะได้กลับมาดูแลคุณพ่อและคุณแม่ของเขาได้บ่อยมากขึ้น
บ้านหลังนี้ จึงถูกสร้างขึ้นบนที่ดินติดกับบ้านหลังเดิมของคุณพ่อและคุณแม่ของวิวัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณควนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ด้วยฝีมือการออกแบบจากทีมสถาปนิก ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ
ด้วยโจทย์การสร้างบ้านให้เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย แต่เป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่มีให้ในครอบครัว ทีมสถาปนิกจึงเริ่มต้นออกแบบหลังคาบ้าน ให้เป็นทรงปั้นหยาและปูหลังคากระเบื้องที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามเรือนลักษณะปักษ์ใต้ในท้องถิ่น โดยนำ “กระเบื้องดินเผาจากอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ซึ่งคล้ายกับกระเบื้องหลังคา “ดินเผาเกาะยอ” ที่เป็นวัสดุพื้นถิ่นดั้งเดิมมาใช้ในการก่อสร้างแทน
นอกจากนี้ยังเพิ่มรายละเอียดในแต่ละจุดของบ้านตามแบบบ้านในอดีตของภาคใต้ ซึ่งมีอยู่ในบ้านของคุณตาคุณยายด้วยเช่นกัน เช่น ช่องคอสอง หลังคาปูกระเบื้องดินเผา ประตูบานเฟี้ยม และ ระเบียง ที่ทุกอย่างประกอบขึ้นมาเพื่อหวังให้คนในครอบครัวรู้สึกไปถึงบุคคลอันเป็นที่รักได้จริง ๆ
ไม่เพียงมีรูปแบบบ้านที่สะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่นพัทลุงเท่านั้น แต่ทีมสถาปนิกยังผสมผสานแนวคิดการใช้ชีวิตภายในบ้านให้ลงตัวกับสภาพแวดล้อมและร่วมยุคสมัยมากยิ่งขึ้น โดยการปรับพื้นที่ภายในบ้านให้โปร่งโล่ง และออกแบบแนวช่องเปิดต่าง ๆ ของบ้านที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อสวนภายนอกได้อย่างรื่นรมย์ คล้ายกับเรือนพักในอดีตของภาคใต้ที่นิยมใช้ช่องคอสอง หรือทำช่องระบายอากาศจากไม้สาน ที่มีความโปร่ง เป็นตัวช่วยในการระบายอากาศภานในบ้าน ให้เย็นสบาย
นอกจากนี้ยังสร้างบรรยากาศของการรำลึก ด้วยการแขวนภาพเรือนหลังเก่าในความทรงจำที่วิวัฒน์มีสมัยไปเยี่ยมคุณตาคุณยายตอนเด็ก ๆ เอาไว้ใจกลางบ้าน เพื่อให้สามารถมองเห็นได้จากทุก ๆ ส่วนของตัวบ้าน เกิดเป็นพื้นที่ในเชิงความทรงจำให้กับครอบครัว
เมื่อขึ้นมาชั้นสองจะได้พบกับห้องโถงอเนกประสงค์ ที่สามารถนั่งและนอนเอกขเนกได้สบาย โดยประยุกต์มาจากการนั่งพื้นอย่างไทยและการนั่งแบบสากลเข้าไว้ด้วยกัน และในส่วนโครงสร้างของเสา คาน และพื้น สถาปนิกก็ได้เลือกใช้ “ไม้หลุมพอ” ไม้ท้องถิ่นของภาคใต้ ในการก่อสร้างร่วมกับไม้จากบ้านหลังเก่าที่เป็นมรดกสืบทอดกันมา ก่อนนำมาผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่อย่าง “กระจกใส” เกิดเป็นเรือนไม้เก่าที่แฝงความโมเดิร์น สร้างความแตกต่างเอาไว้ได้อย่างลงตัว
ความสัมพันธ์ในครอบครัวล้วนเป็นสิ่งที่มีค่าจนไม่อาจลืม “เรือนพินรัตน์” ซึ่งโดดเด่นด้วยดีไซน์ร่วมสมัยที่ผสมผสานไปด้วยเสน่ห์ของเรือนไทยพื้นถิ่นพัทลุง และความโมเดิร์นของการออกแบบที่ทันสมัย จึงกลายเป็นสถาปัตยกรรมตัวแทนของความรักและความคิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไป ที่ชวนให้จดจำเรื่องราวในอดีต เติมเต็มบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จนได้รับรางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารพักอาศัย จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด