20 ธันวาคม วันสักการะ “ท้าวอัมรินทราธิราช” ราชาแห่งทวยเทพและเทพแห่งสายฟ้า ผู้ดลบันดาลฝนฟ้าพายุ พร้อมทั้งความรุ่งเรือง ขจัดอุปสรรคและสิ่งชั่วร้าย
ในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ถือเป็นวันสักการะประจำปีของ “ท้าวอัมรินทราธิราช” หรือ “พระอินทร์” ที่บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า ซึ่งจะเปิดให้ร่วมพิธีบวงสรวงได้ตั้งแต่ 08.30-19.00 น.
สำหรับ “พระอินทร์” ถือเป็นเทพที่มีความสำคัญตามความเชื่อของอินเดีย เพราะทรงเป็นเทพทั้ง 3 ศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู, เชน และ พุทธ
วิธีแก้ชง 2566 สำหรับ 4 นักษัตร "ระกา-มะเมีย-ชวด-เถาะ"
รู้ทัน “ปีเถาะ 2566” ภาพรวมปีหน้า-สีเสริมดวง เลขมงคลแห่งปี
เชื่อกันว่าพระองค์จะมอบความเจริญทางธุรกิจ และช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรค ความอยุติธรรมให้ออกไปจากชีวิตของผู้ที่ศรัทธา หากผู้ศรัทธาเป็นคนยึดมั่นในสัจจะและมีเมตตาธรรม พระองค์จะประทานพรให้ได้ตามที่ขอ
ดังนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคลส่งท้ายปี 2565 เราจึงได้รวบรวมประวัติของท่าน และวิธีการเคารพบูชามาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมตัวกันก่อนไป พร้อมรับพรให้สำเร็จดั่งหวัง
ประวัติของพระอินทร์โดยสังเขป
ตำนานกล่าวขานกันว่า “พระอินทร์” เกิดมาจากผู้ใจบุญจำนวน 33 คน ที่ได้ร่วมกันสร้างศาลาและร่วมกันทำเส้นทางเพื่อถวายเป็นทาน เมื่อคนกลุ่มเหล่านี้ตายไป เกิดใหม่ไปเป็นเทวดา เทวดาทั้ง 33 องค์ จึงรวมตัวกันกลายเป็นพระอินทร์
ศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู แต่โบราณ จะนับถือ “พระอินทร์” ให้เป็นใหญ่สูงสุด และเป็นผู้ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลกมนุษย์ เนื่องจากทรงมีอานุภาพมากที่สุดในบรรดาเทพทั้งปวง และสามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนัก ฟ้าร้อง น้ำท่วม หรือพายุอันรุนแรง
“พระอินทร์” มีพระวรกายสีเขียว มรกต มีดวงตา 1,000 ดวง 4 กร แต่ละกรทรงอาวุธที่แตกต่างกัน คือ ดาบ หอก ธนู และสังข์ โดยอาวุธหลักคือวัชระ หรือ สายฟ้า เป็นศาสตราวุธคู่กายที่สามารถสร้างฝน ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง พายุ แถมยังสามารถผ่ามหาสมุทร ภูเขา ท้องฟ้า และคืนความสงบสุขสู่แผ่นดินได้
นอกจากนี้พระอินทร์ยังทรงมีอำนาจมากล้น สามารถรับรู้ภยันอันตราย ความสิ้นหวัง และความเจ็บปวดได้ เมื่อทรงนั่งบัลลังก์เทพ หากบัลลังก์ร้อนดั่งไฟหรือเย็นดั่งยอดเขาหิมาลัย จะทรงรับรู้ถึงปัญหาของผู้ติดตามและมุ่งตรงไปช่วยเหลือทันที และเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ประกอบความดีบนโลกมนุษย์ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดา ประทับอยู่บนสรวงสวรรค์วิมานของพระอินทร์
“พระอินทร์” จึงถือได้ว่าเป็นทั้งราชาแห่งทวยเทพ ผู้อภิบาลโลกมนุษย์ และเทพเจ้าพายุฝนและสายฟ้า รวมถึงยังเป็นมหาเทพองค์แรกสุดของศาสนาพราหมณ์ฮินดูเลยก็ว่าได้
แต่ในปัจจุบันการบูชาพระอินทร์ได้ถูกลดบทบาทลง หลังศาสนาพราหมณ์ฮินดูยกย่อง พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และ พระศิวะ (พระอิศวร) ขึ้นเป็นใหญ่แทน ด้วยมีเรื่องราวที่พราหมณ์ไวษณพนิกายได้เล่าขานในภายหลัง ทำให้อำนาจหน้าที่บางประการถูกโอนไปให้ตรีมูรติ เช่น
“พระอิศวร” กลายเป็นประมุขสูงสุดแห่งทวยเทพและเป็นประธานเทวสภา “พระนารายณ์” มีอำนาจหน้าที่อภิบาลมนุษยโลกแทน กับทั้งพลังอำนาจของพระอินทร์ยังเป็นรองตรีมูรติ เป็นต้นว่า ในคราวที่พระนารายณ์แบ่งภาคลงไปเป็นพระกฤษณะ พระกฤษณะสามารถสำแดงเดชยกเขาบังห่าฝนที่พระอินทร์บันดาลให้เกิดขึ้นมา เพื่อทรมานเหล่าผู้คน เพราะเสื่อมศรัทธาในพระอินทร์
อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าพระอินทร์ทรงช่วยขจัดสิ่งชั่วร้าย ความอยุติธรรมให้ออกไปจากชีวิตของผู้ที่ศรัทธา พร้อมทั้งปกป้องรักษาธุรกิจให้เจริญรุ่งเรือง หากผู้ศรัทธาที่มาสักการบูชาเป็นคนยึดมั่นในสัจจะและมีเมตตาธรรม พระองค์จะประทานพรให้ได้ตามที่ขอเสมอ
การบูชาท้าวอัมรินทราธิราช
สิ่งของที่ควรนำไปถวาย
- ธูป 9 ดอก
- เทียน 1 คู่
- พวงมาลัยดอกดาวเรือง หรือดอกไม้สีขาว (ยกเว้นดอกบัว)
- ผลไม้ เช่น มะพร้าว กล้วยน้ำว้า และ อ้อย
- นมสด
- ตุ๊กตาช้าง หรือ ม้า 1 คู่
คาถาบูชา
(ตั้งนะโม 3 จบ) โอม สักกะ เทวะตา วันทานัง สุขิตา มหาลาโภ ทุติยัมปิ สักกะ เทวะตา วันทานัง สุขิตา มหาลาโภ ตะติยัมปิ สักกะ เทวะตา วันทานัง สุขิตา มหาลาโภ
การเดินทาง
ที่ตั้งของ “ศาลท้าวอมรินทราธิราช” จะติดกับ BTS สถานีชิดลม สำหรับผู้ที่เดินทางมาด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส แนะนำว่าให้ลงมาทางออกที่ 2
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์, Gaysorn และ สยามคเณศ
"มาฆบูชา 2568" เตรียมของทำบุญ-ถวายพระ เสริมสิริมงคล
เคานต์ดาวน์ “ปีใหม่ 2023” รวมจุดเช็กอินน่าไปชมแสงสี กินเที่ยวทั่วไทย