คอกาแฟมีหนาว! ราคาพุ่งอีก 3 ปี "บราซิล-เวียดนาม"เจอสภาพอากาศแปรปรวน
ราคากาแฟตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี จากวิกฤตสภาพอากาศ กระทบแหล่งผลิตหลัก "บราซิล-เวียดนาม"
ราคากาแฟในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน จากสภาพอากาศที่แปรปรวน กดดันแหล่งผลิตหลักอย่างบราซิลและเวียดนามได้รับความเสียหาย คาดว่า ราคากาแฟโลกอาจยืนสูงต่อเนื่องจนกว่าผลผลิตรอบใหม่ของบราซิลจะออกสู่ตลาดในราวปี 2568
ขณะที่ไทยที่เป็นผู้นำเข้า คงต้องเผชิญราคาที่สูงขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2565 การนำเข้ากาแฟของไทยจะมีมูลค่าราว 163 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัวร้อยละ 27
ดื่ม "กาแฟ" อย่างไรให้ได้ประโยชน์ ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สดชื่น
กรมอนามัยเผยดื่มกาแฟเกิน 4 แก้วต่อวัน เสี่ยงกระทบ 4 ระบบของร่างกาย
กาแฟทำฟันเหลือง! เปิดเคล็ดลับดื่มอย่างไร ไม่ให้ทิ้งคราบ
ผลที่ตามมา ผู้ประกอบการแปรรูปและร้านกาแฟจะเผชิญต้นทุนเมล็ดกาแฟที่ยังยืนสูง และเมื่อรวมกับต้นทุนอื่นๆ จะกระทบมายังผู้บริโภคที่อาจต้องจ่ายราคากาแฟต่อแก้วที่สูงขึ้น
ขณะที่ เกษตรกรที่ผลิตกาแฟคงได้รับอานิสงส์จากราคาขายที่ดีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2566 จากผลผลิตกาแฟโลกที่ยังตึงตัว แต่ในระยะข้างหน้า ผู้ผลิตกาแฟไทยควรยกระดับการผลิตไปยังกาแฟคุณภาพมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาตลาดโลก
ประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลและเวียดนาม ที่ครองสัดส่วนผลผลิตเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณผลผลิตกาแฟทั้งโลก เผชิญสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างหนักมาตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน ส่งผลกดดันต่อปริมาณผลผลิตเมล็ดกาแฟให้ลดลง โดยเฉพาะบราซิล ผู้ผลิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้ารายใหญ่สุดของโลกได้ประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงและภาวะน้ำค้างแข็งปกคลุมอย่างหนักแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
คาดว่า ผลผลิตกาแฟของบราซิลในปีนี้อาจลดลงราวร้อยละ 11 และอาจมีสต๊อกลดลงต่ำสุดในรอบ 23 ปี อีกทั้งเวียดนาม ผู้ผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลกก็เผชิญภาวะน้ำท่วมจากพายุโซนร้อนอย่างรุนแรง กดดันผลผลิตและปริมาณสต๊อกกาแฟที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ โคลัมเบีย ก็ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ทำให้คาดว่า ผลผลิตกาแฟในบางพื้นที่ของโคลัมเบียในปีนี้อาจลดลงถึงร้อยละ 50 ล้วนแล้วแต่ส่งผลกดดันต่อผลผลิตกาแฟโลกในปี 2565 ให้ลดลงอย่างมาก
จากการที่ทั้งบราซิลและเวียดนามต่างเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ รวมคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของปริมาณการส่งออกกาแฟทั้งโลก ทำให้ปัญหา Supply Shock ที่เกิดขึ้นในผู้เล่นหลักมีอิทธิพลดันราคากาแฟในตลาดโลกให้พุ่งขึ้น สะท้อนได้จาก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ราคากาแฟอาราบิก้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 และราคากาแฟโรบัสต้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 นับเป็นราคาเฉลี่ยที่พุ่งสูงสุดในรอบ 11 ปี
ไทยเป็นผู้นำเข้าเมล็ดกาแฟเป็นหลัก เพราะผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ คือ ผลิตได้เพียงร้อยละ 25 ของความต้องการใช้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ไทยมีปริมาณการนำเข้ากาแฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และต้องเผชิญราคากาแฟนำเข้าที่สูงขึ้นราวร้อยละ 30.6
สำหรับทั้งปี 2565 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการนำเข้ากาแฟของไทยจะอยู่ที่ 163 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 27 จากปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตกาแฟโลกอาจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องราว 3 ปีจากนี้ จนกว่าผลผลิตกาแฟรอบใหม่ ของบราซิลจะออกสู่ตลาดในราวปี 2568 เพื่อชดเชยผลผลิตที่เสียหายเดิม ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันผลผลิตกาแฟ และดันราคากาแฟโลกให้ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลต่อไทยที่เป็นผู้นำเข้ากาแฟ ยิ่งในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการแปรรูปและร้านกาแฟอาจต้องเผชิญต้นทุนเมล็ดกาแฟที่สูงขึ้น แต่น่าจะยังไม่ขาดแคลนเมล็ดกาแฟเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในระยะสั้น เพราะบางส่วนอาจถูกชดเชยด้วยผลผลิตภายในประเทศที่กำลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคปลายทางอาจต้องจ่ายกาแฟต่อแก้วในราคาที่ปรับสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
แม้ผลผลิตกาแฟไทยยังมีสัดส่วนน้อย แต่ผู้ผลิตกาแฟจะได้อานิสงส์จากราคากาแฟในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ผู้ผลิตกาแฟควรยกระดับการผลิตไปสู่กาแฟคุณภาพ
ในอีกด้านหนึ่ง ราคากาแฟในตลาดโลกที่ยืนสูง จะช่วยหนุนราคากาแฟของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้สามารถประคองตัวในระดับดีได้ สอดคล้องกับความต้องการในตลาดที่เริ่มทยอยฟื้นตัวแบบระมัดระวัง แม้ราคาบางส่วนจะถูกลดทอนจากปัจจัยฉุดด้านฤดูกาลที่ไทยกำลังเริ่มมีผลผลิตกาแฟทยอยออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ที่ราวร้อยละ 20 ของปริมาณผลผลิตกาแฟทั้งฤดูกาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เกษตรกรไทยที่มีผลผลิตกาแฟเกรด Commercial อยู่แล้ว อาจได้รับอานิสงส์จากราคากาแฟที่เกษตรกรขายได้ ทั้งสายพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้า ที่น่าจะทรงตัวในกรอบที่ดีได้ ดังนี้
- ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 คาดว่า ราคากาแฟโรบัสต้าและอาราบิก้าที่เกษตรกรขายได้น่าจะอยู่ที่ราว 82 และ 151 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จากความต้องการที่มีรองรับในจังหวะที่ผลผลิตโลกยังคงตึงตัว
- ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 คาดว่า ราคาน่าจะยืนสูงต่อเนื่องได้ โดยราคากาแฟโรบัสต้าและอาราบิก้าที่เกษตรกรขายได้น่าจะอยู่ที่ราว 80-82 และ 149-151 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ อย่างไรก็ดี คงเป็นราคาที่ย่อลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฉุดด้านฤดูกาลของไทยที่จะมีผลผลิตกาแฟออกสู่ตลาดจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณผลผลิตกาแฟทั้งฤดูกาล
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลผลิตกาแฟในเกรด Commercial ที่เน้นขายเชิงปริมาณ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม Mass น่าจะมีผลผลิตที่มีความไม่แน่นอนสูง จากสภาพอากาศที่มีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น
ดังนั้น ไทยควรเร่งยกระดับสู่แนวทางการผลิตกาแฟในเชิงคุณภาพมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบของความผันผวนด้านราคาตลาดโลก และอาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าได้อีกทางหนึ่ง
แนวทางของเกษตรกรเพื่อยกระดับไปสู่การผลิตกาแฟเกรดคุณภาพ เช่น การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับทำเลที่ปลูก การเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลที่สุก การปลูกแบบออร์แกนิก การพัฒนาเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การปลูกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนากระบวนการแปรรูปให้ได้คุณภาพ การมีใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าระดับสากล และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านการส่งประกวด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เน้นคุณภาพสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (Single Origin) โดยเฉพาะในภาคเหนือที่เป็นสายพันธุ์อาราบิก้าที่มีชื่อเสียง เช่น กาแฟอมก๋อย จ.เชียงใหม่ กาแฟเวียงสา จ.น่าน โดยราคาอาราบิก้าเกรดคุณภาพมีราคาประมูลสูงสุดที่ 6,400 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่เกษตรกรในภาคใต้ ควรเน้นไปที่การปลูกกาแฟโรบัสต้าเกรดคุณภาพมากขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตโรบัสต้าเดิมที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ กาแฟโรบัสต้าเกรดคุณภาพอย่างไฟน์โรบัสต้ามีราคาประมูลสูงสุดสุดถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับโอกาสการส่งออกกาแฟไทย นับว่ามีความท้าทายต่อการแข่งขันในเชิงปริมาณ เนื่องจากไทยมีผลผลิตเพียงร้อยละ 0.2 ของผลผลิตกาแฟทั้งโลก ผนวกกับราคาส่งออกเมล็ดกาแฟไทยที่สูงกว่าเวียดนาม ด้วยต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าและผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่า ทำให้ไทยยากที่จะแข่งขันในการส่งออกเมล็ดกาแฟไปยังตลาดโลก
ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟ นับว่ากาแฟไทยยังเป็นที่ต้องการและยอมรับในตลาดโลก สะท้อนจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกกาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) ขยายตัวร้อยละ 8.1 (YoY) ตามความต้องการที่มีรองรับ เนื่องจากผู้บริโภคมองหาทางเลือกเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง (โรบัสต้าเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำกาแฟสำเร็จรูปจะมีราคาถูกกว่าอาราบิก้าที่เป็นวัตถุดิบหลักของกาแฟสด) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปของไทยในระยะต่อไปด้วย