น้ำมันโลกขาลง โอเปกพลัสไม่ลดกำลังผลิต – กลุ่ม G7 หั่นราคาน้ำมันรัสเซีย
น้ำมันโลก ราคายังร่วงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้นำ G7 และยุโรป ตั้งเพดานราคาน้ำมันรัสเซียให้ต่ำกว่าตลาด ขณะที่กลุ่มโอเปกพลัส ไม่ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ด้านโบรกฯคาด ปี 2566 น้ำมันยังอยู่แนวโน้มขาลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
"ยุโรป" เริ่มเผชิญวิกฤตพลังงานในฤดูหนาว
รัสเซีย ลั่น ไม่รับเพดานราคาน้ำมันที่ชาติตะวันตกกำหนด
เช้านี้ (6 ธ.ค. 65) สถานราคาน้ำมันโลก ในช่วงตลาดเอเชียปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ภายหลังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 กำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย เพื่อลดรายรายได้นำไปทำสงครามกับยูเครน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลวันนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และพันธมิตร รวมถึงรัสเซีย หรือเรียกว่า โอเปกพลัส (OPEC+) มีการประชุมเมื่อ 4 ธ.ค. ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบเท่าเดิม
ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบทั่วโลก
• สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับขึ้น 0.64 ดอลลาร์ หรือ +0.77% ล่าสุดอยู่ในระดับ 83.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาลดลงมาแล้ว -4.78%
• สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็สซัส (WTI) ปรับขึ้น 0.65 ดอลลาร์ หรือ +0.84% ล่าสุดอยู่ในระดับ 77.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาลดลงมาแล้ว -3.16%
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASPS) เผยผ่านบทวิเคราะห์ระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะผันผวนจากทั้งปัจจัยทางด้านความต้องการ (Demand) และ ปริมาณสินค้าทีต้องการขาย (Supply) ที่เข้ามากระทบ รวมถึงประเด็นบวกและลบต่อราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
จากการพิจารณาสถานการณ์ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงมุมมองที่คาดทิศทางราคาน้ำมันจะมีขาลง (Downside) มากกว่าขาขึ้น (Upside) เพราะถูกกดดันจาก Demand ที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันในปี 2566 คาดอ่อนตัวลงจากปี 2565 จากสถานการณ์สงครามที่เริ่มคลี่คลายทยอยกลับสู่ภาวะปกติ ความกังกวลด้าน Supply ผ่อนคลาย และประเด็นกดดันความต้องการใช้ที่สำคัญจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ล่าสุดที่ประชุมสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 (ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส, อเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ญี่ปุ่น,อิตาลี และแคนนาดา) รวมออสเตรเลีย กำหนดเพดานราคาน้ำมันจากรัสเซียไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และให้มีการทบทวนมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 2 เดือน เพื่อให้เพดานราคาอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาตลาดอย่างน้อย 5% โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 5 ธ.ค. 2565 และยังไม่มีระบุวันสิ้นสุด)
ซึ่งมาตรการกำหนดเพดานราคาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงที่จะนำไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลน
โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับตัวลดลง แต่ในความเป็นจริงจะสามารถกระทำได้จริงมากน้อยเพียงใดถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป เพราะรัสเซียก็ออกมาตอบโต้เช่นกันว่าจะไม่ขายน้ำมันให้กลุ่ม EU และ G7 เช่นกัน
ด้านที่ประชุม OPEC+ มีมติไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาลการผลิตในที่ประชุมครั้งนี้ โดยให้ยืนตามมติในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 ในการปรับลดกำลังการผลิตที่ 2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกอยู่ที่ราว 40 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566
แต่ทั้งนี้อาจมีปัจจัยหนุนเล็กน้อยจากการที่ชาวจีนได้ออกมาประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์จนส่งผลให้ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์ในเมืองสำคัญหลายแห่งมากขึ้น
อย่างไรก็ตามภายใต้สถาการณ์ปัจจุบันจากทั้งพื้นฐานด้าน Demand และ Supply รวมถึง ประเด็นที่เข้ามากระทบช่วงสั้นต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้อยู่ในช่วงขาลงมากกว่าขาขึ้น