ปี 2023 ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย เติบโตต่อเนื่องมากกว่าก่อนโควิด
ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยในปี 2023 มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าปี 2019 แล้ว มีมูลค่าราว 2.9 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตต่อเนื่องจากปี 2022
SCB EIC ประเมินว่า ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยในปี 2023ได้แรงสนับสนุนของอุปสงค์คงค้างในการรักษาพยาบาลหลังจากที่ติดปัญหาด้านการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2020-2021 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม CLMV กลุ่มตะวันออกกลางและจีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ
คาดว่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ยังขยายตัวจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical hub) ภายในปี 2026 จากการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI และเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพในหลายด้าน
ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพในหลายด้านที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ได้แก่
- การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัย (Silver economy) ซึ่งผลักดันให้ความต้องการด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงความต้องการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการชะลอวัยเพิ่มสูงขึ้น
- การเติบโตของชนชั้นกลางและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งหนุนให้ความต้องการในการรับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานและได้รับความสะดวกสบายเพิ่มสูงขึ้น
- แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เพิ่มขึ้นทั่วโลก เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตทั้งการกินอาหาร การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย หรือความเครียด และทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพมากขึ้น
- พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสนับสนุนให้การใช้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น ตรวจร่างกาย กายภาพบำบัด และเวชศาสตร์ป้องกัน
จุดแข็งของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย
ปัจจัยที่ดึงดูดและกลายเป็นจุดแข็งให้นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทยอย่างต่อเนื่องมาจาก ราคาค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผล คุณภาพของบุคลากรและสถานพยาบาล และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
- ราคาค่ารักษาพยาบาลไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคโดยเฉพาะในด้านการศัลยกรรมความงามและการผ่าตัดมดลูก
- บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มีบริการเป็นเอกลักษณ์ และมีสถานพยาบาลระดับสากลได้รับมาตรฐาน JCI มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (59 แห่ง)
- การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาพักผ่อนต่อเนื่อง
ภาครัฐและภาคเอกชนต่างเล็งเห็นโอกาสและวางแผนพัฒนาเพื่อเจาะตลาด Medical tourism
ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical hub) ภายในปี 2026 จากการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI โดยในปี 2022 ภาครัฐได้ประกาศจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (AWC) ครอบคลุม 6 จังหวัดทางภาคใต้เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะด้าน โดยได้เริ่มอนุมัติโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันที่ภูเก็ต รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อรักษาพยาบาลระยะเวลา 1 ปี ซึ่งผู้ป่วยต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยได้หลายครั้ง และครั้งละไม่เกิน 90 วัน
ส่วนผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนต่างเร่งขยายขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก โดยแม้ในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนไทยต่างมีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ค่อนข้างดีมากแล้ว แต่หลาย ๆ โรงพยาบาลต่างก็เร่งพัฒนายกระดับการให้บริการในหลากหลายรูปแบบเพื่อคว้าโอกาสนี้ เช่น การพัฒนาโรงพยาบาลสู่การเป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทาง, การขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ, การสร้างศูนย์การแพทย์และสุขภาพครบวงจร และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้
ไทยยังคงมีความท้าท้ายที่สำคัญในการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การแข่งขันจากประเทศคู่แข่งในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ตุรกี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ซึ่งต่างเร่งพัฒนาศูนย์การแพทย์ชั้นนำเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และบริการสนับสนุน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เนื่องจากบุคลากรในระบบสาธารณสุขยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งชั้นนำ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองไหล (Brain drain) จากปัจจัยข้อจำกัดในหลายด้านทั้งสภาพแวดล้อมการทำงาน ค่าตอบแทน ทุนการศึกษาที่จำกัด ที่ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์มีแนวโน้มย้ายออกจากระบบสาธารณสุขของรัฐและกระทบต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งประเทศ
กระแส Technology disruption จาก HealthTech ที่มีผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาควบคู่ไปกับการนำมาช่วยยกระดับการให้บริการ เช่น การใช้ AI ในการช่วยวินิจฉัยโรค, การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, ระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยแบบดิจิทัล, แพลตฟอร์มนัดรักษาออนไลน์ และการใช้ Tele-medicine
กลยุทธ์สำคัญ 4 ข้อ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวเป็นผู้นำตลาด Medical tourism
- การสร้างและผลักดัน Branding การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ด้วยการพัฒนาความเชี่ยวชาญการรักษาเฉพาะด้าน โดยอาจร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันพร้อมใช้ Soft power ของไทยเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ชาวต่างชาติอยากเข้ามาใช้บริการในไทย
- การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) กับภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาล สายการบิน โรงแรม รีสอร์ต สปา ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ บริษัททัวร์ บริษัทประกัน โดยเฉพาะการเสนอแพ็กเกจอย่างครบวงจรทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและสามารถจัดโปรโมชันเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
- การยกระดับคุณภาพการให้บริการและความก้าวหน้าทางการรักษา เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำและแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกได้ โดยอาศัยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาครัฐด้วย
- การนำ HealthTech มาปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ พร้อมทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ