“สุริยะ-มนพร” จ่อยกระดับสมุย ลุยขยายถนนสร้างสะพานเชื่อมเกาะ ผลักดันท่าเทียบเรือครุยส์
“สุริยะ” ลงพื้นที่เกาะสมุยติดตามความคืบหน้าแผนพัฒนารองรับน้กท่องเที่ยว เร่งยกระดับโครงข่ายคมนาคม พร้อมดูโครงการท่าเทียบเรือครุยส์มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท
วันที่ 25 ส.ค. 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเกาะสมุยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
นายสุริยะ กล่าวว่า สืบเนื่องมาตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยว ครั้งนี้จึงลงมาติดตามในเรื่องที่เคยสั่งการไว้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน นอกจากเรื่องการเพิ่มเที่ยวบินมายังเกาะสมุยที่จะทำให้มีผู้โดยสารมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก

โดยนายสุรืยะชี้ว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น ทางกรมทางหลวงชนบทเองกำลังเร่งศึกษาการขยายเส้นทางจราจร ได้แก่ โครงการก่อสร้าง ทางหลวง 4142 ตอน บ้านใน - บ้านโฉ - ขนอม ทางหลวง 4014 ตอน คลองเหลง - ขนอม และและโครงการก่อสร้าง ทล.4170 ตอน สระเกศ - หัวถนน หรือถนนรอบเกาะ
ซึ่งการดำเนินการทั้ง 3 โครงการดังกล่าวนั้น ก็เพื่อพัฒนาเส้นทางให้มีความสะดวกปลอดภัยในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญภายในเกาะสมุยไปยังท่าเรือเกาะแตน และรองรับเส้นทางสะพานเชื่อมระหว่างเกาะสมุยกับบนฝั่งในอนาคต นายสุริยะ ระบุว่า สิ่งที่ยังห่วงใยในการสร้างสะพานเชื่อมคือประชาชนในพื้นที่ยินดีหรือไม่กลับโครงการดังกล่าว แต่จากการทำประชาพิจารณ์มีเสียงตอบรับที่ดี ขณะเดียวกันยังให้ทางกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการเรื่องการปรับปรุงถนนทางเชื่อมต่อจากทิศตะวันออกมายังทิศตะวันตกอีกด้วย
ส่วนอีกหนึ่งโครงการใหญ่อย่างการศึกษาและพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณแหลมหินคม เกาะสมุย ที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 12,172 ล้านบาท โดยนางมนพร เจริญศรี รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้เข้าจังหวัดและเข้าประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงยกระดับการท่องเที่ยวเรือสำราญที่เข้ามาเทียบท่าเกาะสมุย

ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยในขณะที่ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด หรือ PPP Net Cost มีความเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยมีเอกชนเป็นเจ้าของรายได้และเป็นผู้รับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการได้ในปี 2567 เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 และเปิดให้บริการในปี 2575 ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 3-4 รายที่มีความสนใจ
ขณะที่ในด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมนั้น นางมนพร กล่าวว่า จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง ไม่มีพื้นที่อ่อนไหว และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ส่วนด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นพื้นที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโครงการตลอดระยะเวลา 37 ปี มีความคุ้มค่าในการลงทุนด้านเศรษฐกิจ โดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการประมาณ 46,000 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มากกว่า 15%
