ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติห่วงหนี้ครัวเรือน กลุ่มเปราะบางต้องปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าลดดอกเบี้ย
ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วงหนี้ครัวเรือน ชี้กลุ่มเปราะบางต้องปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าลดดอกเบี้ย เฟดลดดอกเบี้ยแล้ว กนง. ไม่จำเป็นต้องลดตาม ยังต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย ยินดีเข้าหารือ รมว.พาณิชย์
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา BOT Symposium 2024 “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ระบุว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ต่อ GDP ซึ่งมาพร้อมกับภาวะการเงินของครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ มีปริมาณหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่มีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้

ครัวเรือนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ที่ต้องก่อหนี้ในช่วงที่ขาดรายได้จากวิกฤตโควิด กำลังเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากรายได้อาจยังไม่ฟื้นตัวดี ในขณะที่มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ
ผลตรวจข้อสอบ “ครูเบญ” ออกแล้ว คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์
ตรวจสอบสิทธิกลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ รับเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต
เปิดไทม์ไลน์ โอนเงิน 10,000 บาท เข้าบัญชีพร้อมเพย์ กลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ
โดยต้นตอของ “ปัญหาหนี้” อาจแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ
- ด้านปัจเจก การขาดวินัย การใช้จ่ายเกินตัว
- ด้านสภาพแวดล้อม จากการที่กฎ กติกา สภาพแวดล้อม ที่เรียกรวม ๆ ว่า"สถาบัน" ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ไม่เอื้อให้ปัจเจกคำนึงถึงผลประโยชน์ในอนาคตอย่างเพียงพอ
การใช้จ่ายเกินตัว เป็นสาเหตุเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนขาดรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ขาดระบบโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ที่ดีพอ และสถาบันการเงินไม่มีข้อมูลที่รอบด้านในการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้อย่างเหมาะสม ดังนั้น เมื่อขาดรายได้และไม่มี social safety net คนก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพิงสินเชื่อ และอาจจะกู้เกินศักยภาพหากสถาบันการเงินไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงได้
ดังนั้นการแก้ “ปัญหาหนี้” ของสังคมไทยจึงจำเป็นต้องแก้ทั้งในส่วนของ behavioral bias และข้อจำกัดในการตัดสินใจของปัจเจก ในส่วนของสถาบันที่ไม่เอื้อให้ปัจเจกคำนึงถึงอนาคตอย่างเพียงพอ เราจะต้องเร่งปรับแก้กฎ กติกา รวมไปถึงการบังคับใช้กฎกติกาเหล่านั้นในอย่างน้อย 3 ด้าน
- ด้านเศรษฐกิจ ต้องแก้ความล้มเหลวของตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำไปสู่การ “สร้างหนี้” เช่น การทำให้ต้นทุนของธุรกิจสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงต่อสังคมมากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจ และเสริมสร้างให้ระบบการเงินทำงานได้ดีขึ้นเพื่อช่วยให้คนและธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน
- ด้านสังคม ต้องสร้าง social safety net ที่ตอบโจทย์ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ “คน” ที่เป็นทรัพยากรหลักของประเทศ มีความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องกังวลถึงปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตของตัวเองและคนอื่นในสังคม
- ด้านการเมือง ต้องผลักดันให้เกิดระบบถ่วงดุลที่ดี ที่จะทำให้นโยบายสาธารณะในด้านต่าง ๆ เป็นไปโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างระยะสั้นและระยะยาว แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่าง Jean-Claude Juncker อดีตนายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์ก และอดีตประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เคยกล่าวไว้ว่า "นักการเมืองทุกคนรู้ดีว่าควรทำอะไร ที่เราไม่รู้คือเมื่อเราทำสิ่งเหล่านั้นแล้วเราจะได้รับเลือกอีกสมัยได้อย่างไร (We all know what to do, but we don't know how to get re-elected once we have done it.)" จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปในทางที่เหมาะสมมากขึ้น
ในบริบทของประเทศไทยเอง ก็มีตัวอย่างของนโยบายในอดีตที่ให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไป ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า นโยบายเหล่านั้นอาจส่งผลต่อประเทศในระยะยาว เช่น งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ แสดงให้เห็นว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกรในอดีตที่ทำในวงกว้าง ทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีเงื่อนไขการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี ส่งผลให้ลูกหนี้กว่า 60% มีโอกาสเป็นหนี้เรื้อรัง และกว่า 45% มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกัน นโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ที่อาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนในวันนี้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น เช่น การเพิ่มรายได้ภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศยั่งยืนขึ้น หรือการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้พร้อมสำหรับวันข้างหน้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ กำลังทำให้ประเทศเสียโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างเสถียรภาพในระยะยาว ก่อให้เกิด "ปัญหาหนี้" ที่แม้จะไม่ใช่เรา แต่คนที่อยู่ในประเทศของเราต้องแบกรับในอนาคต
พร้อมย้ำว่า ธนาคารกลางทั่วโลก มีพันธกิจที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัว ควบคู่ไปกับเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องให้น้ำหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว
ถึงแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้รวดเร็วในระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และอาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เกินตัวหรือพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาวหรือนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงได้
จึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าวหลาย ๆ ครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้างและย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอก็อาจทำให้เสียหลักการของการ “มองยาว” ได้
ต่อมา นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงาน BOT Symposium 2024 ถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยระบุว่า การลดดอกเบี้ยอาจทำให้ภาระหนี้เก่าลดลง แต่อีกฝั่งหนึ่งต้องพิจารณาว่าหากลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้สินเชื่อใหม่โตเร็วขึ้นด้วยหรือไม่ ต้องชั่งน้ำหนักทั้งสองฝั่ง
นอกจากนี้ ยังมีหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้นจะคาดหวังว่าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วภาระหนี้ทุกคนจะลดคงไม่ใช่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาได้เท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้
ภาระหนี้เป็นอะไรที่เราก็เป็นห่วง มีสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่น้อยที่มีปัญหาหนี้ แต่จะฝากไว้ว่าการลดดอกเบี้ย ผลที่ส่งไปถึงภาระหนี้มันไม่ได้เต็มที่ อย่างที่เราทราบกันดี จะไปคาดหวังว่าดอกเบี้ยลดแล้วภาระหนี้ทุกคนลดก็ไม่ใช่
เฟดลดดอกเบี้ยแล้ว กนง.ไม่จำเป็นต้องลดตาม ต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย
เมื่อถามว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการลดดอกเบี้ยไปแล้ว 0.50% จะเป็นแรงกดดันให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยตามหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลด ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาลดดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน
โดยมองว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และราคาทองคำที่ทำ All time hight
ยินดีเข้าหารือ รมว.พาณิชย์
ส่วนกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่าต้องการพบกับนายเศรษฐพุฒิ เพื่อหารือหลังเงินบาทแข็งค่าจนส่งผลกระทบอย่างหนักกับภาคการส่งออก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 3.4%
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ไม่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเทศอื่นที่แข็งค่าเช่นกันจากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่าหลังเฟดลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ยืนยันว่าแบงก์ชาติติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนจนเกินไป และยินดีที่จะเข้าพบหารือกับนายพิชัยด้วย