จีนส่งสัญญาณ? เตรียมพร้อมเจรจายุติสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
สื่อต่างประเทศรายงาน จีนส่งสัญญาณบางอย่างว่าอาจพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อยุติสงครามการค้าที่ตึงเครียด
จากกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน วันที่ 16 เม.ย. Yahoo Finance รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ทราบเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า จีนส่งสัญญาณแสดงความพร้อมต่อการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แต่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ
โดยจีนต้องการให้รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เกียรติจีนมากขึ้น รวมถึงห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่แสดงท่าทีดูหมิ่นจีน นอกจากนี้ จีนยังต้องการให้สหรัฐฯ แสดงจุดยืนและดำเนินการที่สอดคล้องกันมากขึ้นในประเด็นต่าง ๆ เช่น การคว่ำบาตรและประเด็นไต้หวัน

จีนยังยืนกรานให้สหรัฐฯ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการเจรจาที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี เพื่อช่วยเตรียมข้อตกลงเพื่อให้ทรัมป์และผู้นำจีน สี จิ้นผิง ลงนาม
ขณะเดียวกัน ไม่นานก่อนมีรายงานดังกล่าวจาก Yahoo Finance มีข่าวว่า จีนแต่งตั้งผู้แทนการค้าคนใหม่กะทันหัน เนื่องจากทางการระบุว่า การกระทำของสหรัฐฯ ที่ใช้ “กำแพงภาษีศุลกากรและการกลั่นแกล้งทางการค้า” ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก
หลี่ เฉิงกัง อดีตที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และเอกอัครราชทูตองค์การการค้าโลก (WTO) จะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก หวัง โส่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ผู้มากประสบการณ์
ในวันเดียวกันนี้ จีนประกาศว่า GDP ของประเทศเติบโตขึ้น 5.4% ในไตรมาสแรกของปี 2025 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเกินความคาดหมาย แต่สะท้อนถึงช่วงเวลาก่อนที่ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 145% และเจ้าหน้าที่จีนเตือนว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้ในอนาคต
ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็กล่าวว่า พวกเขาเปิดกว้างต่อการเจรจา แต่ยังไม่มีฝ่ายใดลงมือเคลื่อนไหวที่จะทำเช่นนั้นจริง
ในส่วนของการเปลี่ยนตัวผู้แทนการค้ากะทันหันนั้น อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสของที่ประชุมคณะกรรมการจีน กล่าวว่า “ในมุมมองของผู้นำระดับสูงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาต้องการคนอื่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อจะได้เริ่มเจรจากันในที่สุด”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นเพียง “การเลื่อนตำแหน่งตามปกติ" ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเป็นพิเศษเท่านั้น
เรียบเรียงจาก BBC / Yahoo Finance