หนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัวชะลอลง มูลค่า 16 ล้านล้านบาท
หนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัวชะลอลง มูลค่า 16 ล้านล้านบาท แต่คนไทยยังมีพฤติกรรมติดหรู ที่นำไปสู่การก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.42 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.2% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ หกติดต่อกัน จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 88.4% จาก 88.9% ของไตรมาสก่อนหน้า

โดยเมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์การก่อหนี้ พบว่า สินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 2.3% จาก 2.5% ในไตรมาสก่อนตามกำลังซื้อที่ลดลง เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวเพียง 3.9% และ 1.4% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.6 และ 4.0 ตามลำดับ
ขณะที่ ประเภทสินเชื่อที่หดตัว ได้แก่ สินเชื่อยานยนต์หดตัว 9.6% ตามยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ที่ลดลง / สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 3.4% และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจหดตัว 0.3%
ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลง โดยมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโร มีจำนวน 1.22 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.94% เพิ่มขึ้นจาก 8.78% ของไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ สินเชื่อค้างชำระระหว่าง 30 – 90 วัน (SMLs) มีมูลค่า 5.68 แสนล้านบาท ลดลง 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
- คนไทยมีพฤติกรรรมการบริโภคแบบติดหรู ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย จากการสำรวจขอมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทย 1 ใน 3 นิยมใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรู (Luxury) และบริการระดับพรีเมียม อาทิ อาหารเครื่องดื่ม บัตรคอนเสิร์ต บริการเสริมความงาม ของสะสม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและการยอมรับจากสังคม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการก่อหนี้เกินตัว สาเหตุมาจากความต้องการได้รับการยอมรับและได้แสดงสถานะทางสังคม โดยเพศชาย มีความต้องการโดดเด่นที่มากกว่าเพศหญิง สินค้าที่นิยมซื้อแบบติดหรู ได้แก่ อุปกรณ์เทคโนโลยี ขณะที่เพศหญิงนิยมซื้อสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยกว่า 50% เงินออมสำหรับยามฉุกเฉินน้อยกว่า 6 เดือน ทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่วงจรหนี้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- การผลักดันให้สหกรณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ประชาชนสามารถหลุดจากปัญหาหนี้สิน รวมถึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรม