“อีลอน มัสก์” เผย ถ้าซื้อทวิตเตอร์สำเร็จ จะปรับลดพนักงาน 75%
อีลอน มัสก์ มีแผนจะปรับลดจำนวนพนักงานของบริษัท “ทวิตเตอร์” ลงมากถึง 75% หากการซื้อขายในวันศุกร์หน้าเป็นไปอย่างเรียบร้อย
หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทคโนโลยีผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ประกาศกลับมาเข้าซื้อกิจการ “ทวิตเตอร์” อีกครั้งในราคาเดิม 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น รวมมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) ล่าสุด เจ้าตัวเปิดเผยกับนักลงทุนว่า เขามีแผนจะปรับลดจำนวนพนักงานของบริษัท “ทวิตเตอร์” ลงมากถึง 75%
ข่าวร้ายสำหรับพนักงานทวิตเตอร์นี้ จะทำให้บริษัทเหลือพนักงานไม่ถึง 2,000 คนจากเดิมที่มีอยู่ราว 7,500 คน
กลับลำ 180 องศา! “อีลอน มัสก์” เตรียมซื้อกิจการทวิตเตอร์อีกครั้ง
ปั่นหุ้นหรือเปล่า? มหากาพย์คู่ค้าดีลล่ม “อีลอน มัสก์-ทวิตเตอร์”
บัญชีปลอม-สแปมบอท ปัญหาของทวิตเตอร์ที่ไม่แก้ไม่ได้
แผนนี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสุดโต่งที่อีลอน มัสก์ จะนำมาสู่ทวิตเตอร์ ท่ามกลางความท้าทายในการทำให้บริษัทนี้มีกำไรมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ไม่เคยได้รับผลกำไรได้เท่าขนาดยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอื่นอย่าง เมตา (Meta) หรือ สแนป (Snap) เลย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า อีลอน มัสก์ จะเข้าซื้อกิจการหรือไม่ ทางทวิตเตอร์เองก็มีแผนปรับลดพนักงานอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจที่ชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ก็เพิ่งประกาศชะลอการจ้างงานใหม่
นี่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในวงกว้างของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งหลาย บริษัทนอกจากทวิตเตอร์เองก็ได้ประกาศเลิกจ้างและหยุดหรือชะลอการจ้างงานเช่นกัน
ข้อมูลจากเอกสารของบริษัทและจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ระบุว่า เดิมที คณะผู้บริหารของทวิตเตอร์ในปัจจุบันมีแผนจะลดต้นทุนในการจ้างพนักงานลง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) ภายในสิ้นปีหน้า หรือลดพนักงานลงราว 25% รวมถึงแผนมีแผนที่จะลดต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบฐานข้อมูลที่ทำให้แพลตฟอร์มรองรับผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคนในแต่ละวันได้ เป็นต้น
รายงานดังกล่าวเป็นคำอธิบายในตัวว่า ทำไมทวิตเตอร์จึงกระตือรือร้นในการขายกิจการให้กับอีลอน มัสก์ เรียกได้ว่าเป็น “ตั๋วทอง” ให้กับบริษัทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การปรับลดพนักงานคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทวิตเตอร์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในด้านการควบคุมเนื้อหาที่เป็นอันตรายและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งเป็นจุดที่ทวิตเตอร์ถูกโจมตีมาโดยตลอด
เอ็ดวิน เฉิน นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล ซึ่งเคยดูแลเรื่องสแปมและเมตริกของทวิตเตอร์ กล่าวว่า ผลกระทบของการเลิกจ้างดังกล่าวน่าจะเห็นได้ชัดในทันที แม้ส่วนตัวเขาขะเชื่อว่าทวิตเตอร์มีพนักงานมากเกินไป แต่แผนการลดพนักงานถึง 75% ของอีลอน มัสก์ เป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” และจะทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์เสี่ยงต่อการถูกแฮกและเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
เย็นวานนี้ (20 ต.ค.) ฌอน เอ็ดเจ็ตต์ นิติกรของทวิตเตอร์ได้แจ้งต่อพนักงานว่า บริษัทยังไม่ได้รับการยืนยันเรื่องแผนการของอีลอน มัสก์ ส่วนแผนลดพนักงาน 25% ของบริษัทเองขณะนี้ถูกระงับชั่วคราว จนกว่าดีลการซื้อขายกิจการจะสิ้นสุด
หลังมีข่าวดังกล่าว ระบบการสื่อสารภายในองค์กรของทวิตเตอร์ก็ลุกเป็นไฟ โดยพนักงานต่างแสดงความไม่พอใจและท้อใจ รวมถึงให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
มีรายงานว่า อีลอน มัสก์ กับทวิตเตอร์จัปิดดีลเจรจาแล้วเสร็จภายในวันศุกร์หน้า (28 ต.ค.) ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดี อีลอน มัสก์ จะกลายเป็นเจ้าของทวิตเตอร์โดยสมบูรณ์
เรียบเรียงจาก The Guardian / Washington Post
ภาพจาก AFP