ข่าวดังข้ามปี 2566 : หุ้น MORE-STARK บทเรียนครั้งใหญ่ตลาดทุน สั่นสะท้านผู้คุมกฎ
ย้อนรอยปรากฏการณ์หุ้น MORE-STARK ที่ใช้ช่องโหว่ของตลาดหุ้นอย่างแนบเนียน จนสร้างความเสียหายมหาศาลทิ้งไว้เบื้องหลังให้กับนักลงทุนและโบรกเกอร์ รวมมูลค่าทะลุหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของผู้คุมกฎที่ต้องยกเครื่องระบบดูแลตลาดทุนครั้งใหญ่ เพื่ออุดรอยรั่วป้องกันเหตุซ้ำรอยในอนาคต
ก.ล.ต.ฟัน 32 รายแก๊งปั่นหุ้น MORE ตระกูลดังเพียบ เสียหาย 800 ล้านบาท
ส่งฟ้องล็อตแรก 11 ราย โกง STARK เร่งสอบเงิน 1.6 หมื่นล้าน พบโอนไปต่างประเทศบางส่วน
ป้องกันซ้ำรอยหุ้น MORE ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายหลักทรัพย์-การชำระราคา
โดยเริ่มจากหุ้น MORE ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ในช่วงปลายปี 65 ที่ผ่านมา หุ้นได้ถูกเทขายลงมาอย่างหนักจนหุ้นติดฟลอร์ (Floor) นานถึง 5 วันติดต่อกัน จนกระทั่งมีกระแสข่าวว่าเกิดจากการซื้อขายที่ผิดปกติ ก่อนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งห้ามซื้อขายหุ้นดังกล่าวในทันที และตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ต่อมาบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) 11 แห่ง ได้เข้าร้องทุกข์กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตำรวจสอบสวนกลาง
ว่าได้พบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น MORE สร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์หลายราย มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท
ทั้งนี้จากการสอบสวนของ ปปง. พบว่ามีการซื้อขายหุ้นที่ปกติจริง จากการส่งคำสั่งซื้อหุ้นกว่า 1,500 ล้านหุ้น ของนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในช่วงเปิดตลาด (ATO) ที่ราคา 2.90 บาท มูลค่าราว 4,400 ล้านบาท ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ 11 แห่ง แต่นายอภิมุข ไม่ชำระค่าซื้อหุ้น จนสร้างความเสียหายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปปง.อายัดทรัพย์ได้ทั้งหมดราว 5,395 ล้านบาท
ขณะที่คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ได้รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งล่าสุดหลังจากการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดรวม 10 ราย จากทั้งหมด 32 ราย คาดว่าเสร็จสิ้นเดือน ก.พ. 67 ก่อนจะส่งเรื่องไปที่ศาล
กลยุทธ์หุ้น MORE ปล้นเงินโบรกเกอร์
สำหรับการทุจริตซื้อขายหุ้น MORE กลุ่มผู้ต้องหาใช้กลยุทธ์จากช่องโหว่ให้นอมินีฝั่งผู้ซื้อวางหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับโบรกเกอร์ 11 แห่ง จำนวน 500 หุ้น มูลค่าราว 1,500 ล้านบาท เพื่อยืมวงเงินก้อนโตไปซื้อหุ้น MORE โดยตั้งราคารับซื้อก่อนเปิดตลาดช่วงเช้าไว้ที่ 2.90 บาท และให้นอมินีฝั่งขายที่กระจายในหลายโบรกเกอร์นำหุ้น MORE จำนวน 1,531.77 ล้านหุ้น ไปตั้งขายก่อนเปิดตลาดที่ราคา 2.90 บาทเช่นกัน
ซึ่งเมื่อถึงเวลาเปิดตลาด การซื้อขายหุ้นก็จะเสร็จสิ้นทันที โดยนอมินีฝั่งผู้ซื้อก็จะได้รับหุ้น 1,531.77 ล้านหุ้น และนอมินีฝั่งผู้ขายก็จะได้รับเงินจากการขายหุ้นราว 4,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ นอมินีฝั่งผู้ซื้อไม่จ่ายค่าซื้อหุ้นคืนให้กับโบรกเกอร์ที่ตนเองไปขอวงเงินมาก และยอมให้ถูกยึดหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้โบรกเกอร์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากจะต้องจ่ายค่าหุ้นที่ซื้อมาให้กับฝั่งผู้ขายราว 4,500 ล้านบาท แต่หุ้นที่ได้จากการยึดมามีมูลค่าเพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อหักลบตัวเลข โบรกเกอร์จะต้องแบกรับความเสียหายอีก 3,000 ล้านบาทนั่นเอง
STARK เขย่าตลาดหุ้น โกงนักลงทุนครั้งมโหฬาร
ปีนี้ 2566 ถือเป็นปีที่สะเทือนตลาดหุ้นอย่างแท้จริง เมื่อบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อหลักทรัพย์ STARK ไม่ส่งงบการเงินตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 66 จนถูกตลาดหลักทรัพย์ฯสั่งห้ามซื้อขายหุ้น และในช่วงเวลาดังกล่าวคณะกรรมการของบริษัทได้ทยอยแจ้งลาออกกว่า 10 ราย ก่อนจะเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 5 รุ่น รวมมูลค่า 9,198.40 ล้านบาท
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ STARK ชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) หลังพบว่า ผู้สอบบัญชีของ STARK ตรวจพบการทำธุรกรรมที่อาจมีความผิดปกติ
จนกระทั่งในเดือน มิ.ย. 66 STARK ได้เปิดเผยงบการเงินเป็นครั้งแรก พบว่าในปี 65 มีผลขาดทุน 6,651.1 ล้านบาท และยังพบข้อผิดพลาดหลายรายการในงบการเงินของปี 64 เมื่อปรับตัวเลขย้อนหลับมใหม่ปรากฏว่าขาดทุน 5,989.3 ล้านบาท จากเดิมที่มีกำไร 2,794.9 ล้านบาท ส่งผลให้รวม 2 ปี ขาดทุนราว 12,640 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชียังพบรายการที่ผิดปกติจำนวนมากที่แสดงข้อมูลไม่ตรงกับความจริง โดยหนึ่งในนั้นมีการปลอมแปลงการซื้อขายสินค้า ด้วยการให้บริษัทย่อย เฟ้ลปส์ ดอด์จ ออกเอกสารขายสินค้าแต่ไม่ได้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าจริง ซึ่งบริษัทคู่ค้ากลับกลายเป็นบริษัทย่อยของ STARK และมีการโอนเงินให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งไม่ตรงกับชื่อบริษัทที่ระบุไว้ในรายการ
"ดีเอสไอ" สั่งฟ้อง 11 รายโกง STARK เร่งติดตามทรัพย์สินต่างประเทศกลับมา
ขณะที่ ดีเอสไอ ได้บุกตรวจค้นบริษัท โรงงาน และรวมถึงออกหมายจับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร STARK ที่เชื่อว่าหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ล่าสุดการสอบสวนในดคีนี้ได้เสร็จสิ้นลง และ ดีเอสไอ ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 11 ราย ตามความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฐานฉ้อโกงประชาชน
โดยจากสอบสวนพบว่า เงินที่ได้จากการระดมทุน 15,000 – 16,000 ล้านบาท ถูกโอนไปยังบริษัทลูกอีกหลายทอด และมีการวนกลับมาเพื่อชำระหนี้ที่สร้างไว้ รวมถึงยังมีการนำเงิน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหา และยักยอกถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวบางส่วน รามถึงยังพบเบาะแสว่ามีทรัพย์สินบางส่วนถูกโอนไปต่างประเทศ ซึ่ง ปปง. กำลังเร่งติดตามนำทรัพย์สินกลับมา เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายทั้งหมด 4,704 ราย
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ STARK กลายเป็นเคสที่สะเทือนวงการตลาดหุ้นไทยครั้งใหญ่ เนื่องจากหลังบริษัทฯเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 62 ด้วยวิธีการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Backdoor Listing) ได้มีการระดมทุนจากนักลงทุน และสถาบันการเงินต่าง ๆ จนได้รับความน่าเชื่อถือด้วยดีมาโดยตลอด แม้จะเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพียงไม่กี่ปี อีกทั้งงบการเงินที่บริษัทฯแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีของบริษัทชื่อดัง ก็ไม่พบความผิดปกติ และมีกำไรที่เติบโตเพิ่มมากขึ้นทุกปี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของหุ้น MORE และ STARK ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งประวัติศาสตร์ต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งเกิดจากการใช้ช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ โดยกว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจพบ และจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด ก็ได้สร้างความเสียหายมหาศาลไว้เบื้องหลังให้กับนักลงทุน และโบรกเกอร์จำนวนมาก หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะสามารถหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเช่นนี้ได้อีกหรือไม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาอีกครั้ง
กางปฏิทิน เงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ จ่าย 2 รอบ ปี 2567
เคลียร์ดราม่าเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร ส่งดำเนินคดีเติมเกิน-เติมขาด
“วันคริสต์มาสอีฟ” คืออะไร แตกต่างอย่างไรกับ “วันคริสต์มาส”