SCB EIC ลดเป้าจีดีพีปี 68 ห่วงเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ
SCB EIC ลดเป้าจีดีพีปี 68 ห่วงเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ คาดแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ธ.ค. 67
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังคงขยายตัวต่ำที่ 2.5% พร้อมปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2568 เป็นครั้งที่ 2 เหลือ 2.6% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะสูงกว่า 3%
SCB EIC มองว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 อยู่ที่ 39.4 ล้านคน

ขณะที่การส่งออกปีหน้าคาดว่ายังเติบโตต่ำกว่าในอดีต สำหรับการบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงมากในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง
โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแจกกลุ่มเปราะบาง "เหมาะสมดีกว่าเหวี่ยงแห"
ส่วนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการแจกเงินเฉพาะกลุ่มในเฟสแรก SCB EIC มองว่า เหมาะสมมากกว่าการแจกเงินแบบเหวี่ยงแห โดยคาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพีปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.5-0.7% ทำให้จีดีพีปีหน้าอาจขึ้นมาแตะที่ระดับ 3% อย่างไรก็ตามเป็นโครงการที่ใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชั่วแล้ว และอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570
สำหรับนโยบายเร่งด่วนของ ครม. ชุดใหม่ เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยมีจุดเน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มเปราะบาง โดย SCB EIC ประเมินชุดกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้นจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค การท่องเที่ยว และภาคเกษตร ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้
ขณะที่ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป และผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดสินค้านำเข้า
นายสมประวิณ ยังย้ำว่า นอกจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาระยะสั้น การประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น รวมถึงแก้ปัญหาหนี้ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญที่สุดในขณะนี้ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้หนี้ครัวเรือนที่ออกมาหลายรูปแบบทั้ง การสนับสนุนสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ การลดเงินนำเข้า FIDF และการแฮร์คัทหนี้ มองว่า หลักการสำคัญในการแก้หนี้ต้องคำนึงถึง Moral Hazard เพื่อให้ระบบการเงินเดินหน้าถูกต้อง และสถาบันการเงินจะต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ร่วมกันแก้หนี้ พร้อมทั้งต้องเตรียมแนวทางเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขี้นในอนาคต
ประเมิน กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2567 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2567 1 ครั้ง และช่วงต้นปีหน้าอีก 1 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปีหน้าลดลงไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะการเงินตึงตัวนาน
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีปัจจัยบวกจากการท่องแล้วและภาคบริการที่ฟื้นตัวดี รวมไปถึงภาคการส่งออกทยอยฟื้นตัว และได้รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้ม Hard landing เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ภาคการเงินตึงตัวสูง การเข้าถึงสินเชื่อยาก กลุ่มครัวเรือนเปราะบางสูงกระทบการบริโภคในประเทศ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการลงทุนยานพาหนะ สอดคล้องกับอุปสงค์ตลาดที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่หดตัว ท่ามกลางปัญหาหนี้ค้างชำระและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้น