ปตท. เปิดแผน 3 ระยะรับความท้าทาย เดินหน้าลงทุน “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน”
ปตท. เปิดแผนดำเนินธุรกิจ 3 ระยะ โดยหนึ่งในแผนระยะยาวคือการลงทุน “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” ที่สามารถลดคาร์บอน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย
วันที่ 11 มี.ค. 2568 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2025 ซึ่งเป็นปีแห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง
ดร.คงกระพันกล่าวว่า ด้วยสภาวะของโลกที่มีความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ปตท. ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับบริบทที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญในเรื่องที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

ดร.คงกระพันเสริมว่า สิ่งที่ ปตท. ทำในช่วงที่ผ่านมาและจะทำในปีต่อ ๆ ไป คือจะลงทุนในสิ่งที่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน บวกกับลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
โดยมีการเปิดเผยแผนการ 3 ระยะ ดังนี้
ระยะสั้น จะทำในสิ่งที่ต้นทุนต่ำ ลงทุนน้อยแต่ได้ผลกำไร ได้ผลตอบแทนดี ความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโอเปอเรชันเอ็กเซลเลนซ์ (Operation Excellence) ที่ตั้งเป้าว่า จะมีค่า EBITDA (อีบิตด้า) หรือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า ผ่านการทำซินเนอร์จี (Synergy) ในกลุ่มบริษัทในเครือ ให้ผลิตภัณฑ์ในประเทศเพิ่มกำไร แล้วก็มีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ลงทุนเยอะ สร้างจากความรู้และเทคโนโลยีที่หามาได้ด้วยตัวเอง
ระยะกลาง มี 2 เรื่อง โดยจะทำโครงการ LNG Hub หรือศูนย์กลางการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติเหลว เนื่องจากไทยเรานำเข้า LNG สูงมาก จึงสามารถทำการเทรดดิ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มให้ LNG ได้
อีกเรื่องคือการปรับพอร์ตฟอลิโอของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี โดยจะหาพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรงมาร่วมลงทุนกับ ปตท. โดยที่ ปตท. ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พาร์ตเนอร์ที่เข้ามาจะทำให้บริษัทแข็งแรงขึ้น สู้กับการแข่งขันในโลกที่ท้าทายได้มากขึ้น
ส่วนระยะยาว ปตท. จะทำเรื่อง “ไฮโดรเจน” กับการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน หรือ “CCS” โดยบอกว่า การที่เราทำธุรกิจก๊าซไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ เราจำเป็นต้องควบคู่ไปกับการลดคาร์บอน เพื่อให้แข่งขันในโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้
ดังนั้น สิ่งที่เหมาะกับประเทศไทยในระยะยาวหน่อยคือเรื่องนำไฮโดรเจนมาใช้ในเชื้อเพลิง แล้วก็การทำ CCS คือการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ ปตท. และบริษัทในกลุ่มก็จะร่วมมือกัน
ในส่วนของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น ดร.คงกระพันขยายความว่า เป็นไฮโดรเจนในสเกลใหญ่ คือการนำมาใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ได้เกี่ยวกับไฮโดรเจนในรถยนต์ เพราะอันนั้นยังมีความไม่แน่นอน ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีอีกมาก
คุณคงกระพันบอกว่า “เราพูดถึงไฮโดรเจนที่จะมาแทนเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรืออะไรต่าง ๆ ซึ่งทุกโมเลกุลของไฮโดรเจนที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง มันก็จะลดคาร์บอนได้ทั้งหมด”
ทีนี้ ไฮโดรเจนในช่วงแรก ๆ ประเทศไทยอาจต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด มันยังมีราคาสูง ไฮโดรเจนจะได้มาโดยการใช้ไฟฟ้าในการแยกน้ำ ใช้ต้นทุนสูง ช่วงแรกจึงจะเน้นไปลงทุนในต่างประเทศ
ประเทศที่สามารถแยกไฮโดรเจนจากน้ำด้วยพลังงานที่ต้นทุนถูก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง อินเดีย หรือหลาย ๆ ประเทศ ปตท. จะไปลงทุน จนถึงจุดหนึ่งที่มีความพร้อม ก็จะนำเข้าไฮโดรเจนในรูปแบบที่เป็นแอมโมเนีย เพราะขนส่งง่าย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางและนโยบายของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้มีสัดส่วนไฮโดรเจนในเชื้อเพลิงของประเทศ 5% ภายในปี 2030