ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนัก หลัง “ทรัมป์” ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้
ดาวโจนส์ดิ่ง 1,600 จุด S&P 500-Nasdaq ร่วงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2020 หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ต่อหลายสิบประเทศทั่วโลกที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วย ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงอย่างรุนแรง
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 1,679.39 จุด หรือ 3.98% ปิดที่ 40,545.93 จุด ถือเป็นวันที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2020
ส่วนดัชนี S&P 500 กลับสู่เขตการปรับฐานอีกครั้ง ลดลง 4.84% และปิดที่ 5,396.52 จุด นับเป็นวันที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2020

โดยมูลค่าตลาดลดลงไปรวมกัน 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 86 ล้านล้านบาท นับเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะที่ดัชนีแนสแด็กร่วงลง 1,050.44 จุด หรือ 5.97% และปิดที่ 16,550.61 จุด ซึ่งเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020
ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ยังทำให้หุ้นในดัชนี S&P 500 มากกว่า 400 ตัวร่วงลง เช่น Nike ร่วงลง 14% และ Apple ร่วง 9% โดยกลุ่มสินค้านำเข้ารายใหญ่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด Five Below ร่วงลงเกือบ 28% Dollar Tree ร่วงลง 13% และ Gap ร่วงลง 20%
ฝั่งของหุ้นเทคโนโลยีเองก็ร่วงลงจากภาวะที่นักลงทุนไม่ต้องการเสี่ยง โดย Nvidia ร่วงลงเกือบ 8% และ Tesla ร่วงลงมากกว่า 5%
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับทราบถึงการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้ว โดยเปรียบเทียบการเรียกเก็บภาษีว่าเหมือนกับ “การผ่าตัด” และกล่าวว่า “ตลาดจะเฟื่องฟู หุ้นจะเฟื่องฟู ประเทศจะเฟื่องฟู และส่วนอื่น ๆ ของโลกต้องการดูว่ามีทางใดที่จะบรรลุข้อตกลงได้บ้าง”
แมรี แอน บาร์เทลส์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนที่ Sanctuary Wealth กล่าวว่า “นี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับภาษี และมันไม่ได้ถูกกำหนดให้เข้ากับตลาด ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราเห็นปฏิกิริยาการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว”
เธอเสริมว่า “คำถามสำคัญคือ S&P 500 จะยืนเหนือ 5,500 จุดได้หรือไม่ หากไม่ได้ เราอาจเห็นขาลงอีก 5-10% ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงจุดต่ำสุดที่ 5,200-5,400 จุด”
นักลงทุนยังหันมาลงทุนในพันธบัตรเพื่อแสวงหาความปลอดภัย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงเหลือเพียง 4% เนื่องจากราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น
พันธบัตรได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. โดยปรับตัวลดลงสู่ระดับปรับฐาน หรือลดลง 10% จากระดับสูงสุด เนื่องมาจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการประกาศภาษีศุลกากรของทรัมป์อย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งกดดันหุ้นเพิ่มเติมจากความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น หากอัตราภาษีศุลกากรใหม่นี้ยังคงอยู่ต่อไป และไม่มีการเจรจาให้ลดลง
ขณะเดียวกัน ทั้งจีน และสหภาพยุโรป ต่างประกาศจะตอบโต้มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่อีกหลายประเทศเช่นเม็กซิโก เกาหลีใต้ และ อินเดีย ระบุว่าจะยังไม่ดำเนินการใด ๆ ในตอนนี้ โดยพยายามหาช่องทางประนีประนอมก่อนที่อัตราภาษีในส่วนที่สูงเกินกว่า 10% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.
นอกจากนี้ ผู้ค้าหลักทรัพย์ยังให้น้ำหนักมากขึ้นต่อการคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ เริ่มจากเดือน มิ.ย.ที่คาดว่าดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลงไป 0.25 เปอร์เซ็นต์
ความผันผวนจะยังเกิดต่อไปอีกหลายวัน เนื่องจากมีหลายๆ ปัจจัยเกิดขึ้น และ มาตรการทางเศรษฐกิจของ ประธานาธิบดี ทรัมป์ เริ่มส่งผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยดัชนีความผันผวน CBOE (CBOE Volatility) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความกังวลของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์
อีกผลกระทบที่มีแนวจะเกิดขึ้นจากมารตรการกำแพงภาษีการปรับขึ้นราคาของสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายในสหรัฐฯ โดยเฉพาะรองเท้าแบรนด์ดัง ทั้งไนกี้ รุ่นจอร์แดน และอดิดาส รุ่นแซมบา เนื่องจาก ประเทศที่เป็นฐานการผลิตทั้งจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ในกลุ่มที่ถูกตั้งกำแพงภาษีในอัตราสูง
โดยธนาคารเพื่อการลงทุน UBS คาดว่าผู้ค้าปลีกอาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะการแก้ไขผลกระทบจากภาษีนำเข้า สินค้าจากเวียดนามเพียงชาติเดียว ก็อาจต้องปรับราคาขึ้นถึง 10-12% แล้ว
เรียบเรียงจาก CNBC