“ไวรัส RSV” โรคติดเชื้ออันตรายของเด็กเล็ก ไม่มียา-วัคซีนแต่ป้องกันได้
“ไวรัส RSV” โรคติดเชื้ออันตรายโดยเฉพาะเด็กเล็ก มีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไม่มียา-วัคซีนรักษาจำเพาะ แต่หากรู้ทันป้องกันได้
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ด้วยสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูง เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคบางอย่างเจริญเติบโตได้ดี และหนึ่งในโรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยง่าย ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ที่มีภูมิต้านทานต่ำ คือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV”
เชื้อนี้หากมองแบบผิวเผินอาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว
หมอห่วงเด็กมีโรคประจำตัวเสี่ยงป่วยรุนแรง หลัง"ไวรัส RSV"เริ่มระบาดในโคราช
หมอมนูญ เผยข้อมูลเดือน ส.ค.ไข้หวัดใหญ่-RSVเริ่มระบาดขณะที่โควิดยังสูง
ซึ่งก่อนหน้านี้ในจังหวัดนครราชสีมาเคยพบผู้ป่วยเด็กรายหนึ่งมีอาการดาวน์ซินโดรม แล้วไปติดเชื้อไวรัส RSV มา จนอาการรุนแรง ต่อมาจึงได้เสียชีวิตลง
ไวรัส RSV คืออะไร ?
RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบน (จมูก คอหอย) และส่วนล่าง (หลอดลม ปอด) ประมาณร้อยละ 40-75 ของโรคหลอดลมส่วนปลายอักเสบที่รับการรักษาและร้อยละ 15-40 ของโรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ RSV
ซึ่งไวรัส RSV สามารถก่อโรคได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด จนถึงผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ หรือเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว และมีการระบาดเกือบทุกปี
ซึ่งไวรัส RSV สามารถก่อโรคได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด จนถึงผู้ใหญ่ แต่จะอาการหนักในเด็กเล็ก เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจหรือปอด สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
สาเหตุและการติดเชื้อ ไวรัส RSV เกิดจากอะไร
เกิดจากการติดต่อเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายจากคนสู่คน โดยผ่านทางฝอยละอองขนาดใหญ่ (droplet), ผ่านทางการสัมผัส (contact) หรือผ่านทางไรฝุ่น โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง การติดต่อจึงมักเกิดจากการสัมผัสจากมือไปที่ตาหรือจมูก ผู้ที่ติดเชื้อ RSV จะมีการปล่อยเชื้อไวรัสออกมาจากสารคัดหลั่ง ประมาณสองสัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายมักจะมีระยะฟักตัว 3-5 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการของระบบทางเดินหายใจ
เลี้ยง "ลูกน้อย" ให้อยู่หน้าจอ อาจก่อปัญหาหลายด้าน
"นมแม่" มหัศจรรย์แห่งภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติของ "ลูกน้อย"
อาการของโรค RSV
โรค RSV มีความแตกต่างกันไปตามวัย ดังนี้
- ทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงเดือนแรก จะมีอาการดูดนมน้อยลง ซึมลง บางครั้งอาจมีอาการคล้ายติดเชื้อในกระแสเลือดได้
- ทารกช่วงสองขวบปีแรก มักเริ่มจากอาการไข้ต่ำๆ น้ำมูก จาม นำมาก่อน 1-3 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไอ หายใจเร็วขึ้น หายใจลำบาก อาจได้ยินเสียงหวีด (wheezing) หากลุกลามจะเกิดปอดอักเสบ
- เด็กอายุ 2-5 ปี นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้น อาจเกิดกลุ่มอาการ Croupได้
อาการที่ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
- หอบเหนื่อย หายใจเร็วกว่าปกติ
- มีน้ำมูก หรือไอเสมหะมาก หายใจครืดคราด
- ริมฝีปากคล้ำเขียวหรือตัวเขียวจากภาวะขาดออกซิเจน
- ไข้สูง ซึมลง
- รับประทานอาหาร น้ำหรือนมได้น้อย หรือมีภาวะขาดน้ำ
"ครีมกันแดด" เลือกใช้ให้ถูก ปกป้องผิว "ลูกน้อย" ไม่แพ้
การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ และประคับประคอง โดยปกติอาการจะฟื้นตัวในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
หากเป็นแค่อาการหวัดจากเชื้อ RSV ให้รักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล เพราะอาจเกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนจากโรงพยาบาลหรืออาจแพร่เชื้อ RSV ให้ผู้อื่นในโรงพยาบาลได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงอาจต้องดูแลรักษาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤติ
วิธีการป้องกันจากเชื้อไวรัส RSV
แม้โรค RSV จะสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ แต่ก็สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนี้
1.ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด สอนให้เด็กล้างมือให้ถูกต้อง
2.ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะการติดต่อกันในครอบครัวจากเด็กก่อนวัยเรียน
4.หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
5.ผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบายจนกว่าอาการจะหาย หรืออย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และควรปิดปากจมูกเวลาไอจาม
6.ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4, โรงพยาบาลพญาไท 2 และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย