กันล้มกระดูกหักในผู้สูงอายุ ด้วย “วิตามินดี-แคลเซียม-7 ท่าออกกำลัง”
วิจัยพบ “วิตามินดี-แคลเซียม” กันล้มกระดูกหักในผู้สูงวัย ให้ลดลงกว่า 14% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ทาน แนะกินสม่ำเสมอและออกกำลังร่วม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
“การพลัดตกหกล้ม” ถือเป็นภัยสุขภาพของผู้สูงอายุที่อาจนำไปสู่ความพิการ การมีคุณภาพชีวิตลดลง และหลายครั้งถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในประเทศไทย การหกล้มในผู้สูงอายุจัดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บถึง 40.4%
การหกล้มของผู้สูงอายุ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและกล้ามเนื้อกระดูก ข้อต่อ และระบบประสาทที่เสื่อมถอยลงในผู้สูงอายุ โดย “โรคกระดูกพรุน” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่ายจากการหกล้มในผู้สูงอายุ
อย่ารอให้ "กระดูกพรุน" แล้วค่อยตรวจมวลกระดูก รู้เร็วป้องกันได้
กินป้องกัน "กระดูกพรุน" ด้วยอาหาร 4 ประเภทที่จำเป็นต่อร่างกาย
แต่การป้องกันกระดูกหักจากการหกล้มในผู้สูงอายุ ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ ล่าสุด โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ( Health Intervention and Technology Assessment Program : HITAP) องค์กรวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยผลการวิจัย พบว่า การให้วิตามินดีและแคลเซียม มีส่วนช่วยลดสะโพกและกระดูกบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลังหักได้
“กระดูกพรุน” ปัจจัยกระตุ้นการเกิดกระดูกหัก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ที่ทำให้เกิดกระดูกหักจากการพลัดตกหกล้มได้ง่าย มีดังนี้
- การขาดแคลเซียมและวิตามินซี
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และ หญิงวัยหมดประจำเดือน
- กิจกรรมทางกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical activity) ลดลง
- อื่น ๆ เช่น พันธุกรรม, โรคประจำตัว เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง หรือ การรับประทานยาเสตียรอยด์
ผู้สูงวัยที่ได้รับวิตามินดี-แคลเซียม กระดูกหักลดลงกว่า 14%
มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวิตามินดี และแคลเซียมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี พบว่า สามารถลดโอกาสเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะกระดูกสะโพก และกระดูกบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง มีผลการศึกษา ออกมาว่า ผู้ที่ได้รับวิตามินดีและแคลเซียม มีอุบัติการณ์ “สะโพกหัก” ลดลง 16% และ “กระดูกหัก ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง” ลดลง 14% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวิตามินดีและแคลเซียม
คำแนะนำการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนของไทย
การรับประทานวิตามินดี และแคลเซียม นับเป็นทางเลือกในการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนที่ทำได้ง่าย แต่ควรจะเลือกรับประทานิอย่างไร ปริมาณเท่าไรต่อวันนั้น มีข้อมูลดังนี้
- วิตามินดี
- ทุกคน ทุกช่วงอายุ ควรได้รับวิตามินดี 800-2,000 ยูนิต/วัน
- แคลเซียม
- อายุน้อยกว่า หรือ 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 มิลลิกรัม/วัน
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือหญิงหมดประจำเดือน ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม/วัน
ทั้งนี้ ควรจะมีวินัยในการรับประทานวิตามินและแคลเซียมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ร่วมกับการออกกำลังกายโดยเน้นการออกกำลังกายแบบลดลงน้ำหนัก และแบบเพิ่มแรงต้านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปี และ หญิงวัยหมดประจำเดือน
ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคไต หรือโรคหัวใจ ควรปรึกษาหรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินดีและแคลเซียม
7 ท่าออกกำลังกาย ยากันล้ม
สำหรับท่าออกกำลังกายที่จะช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ มี 7 ท่า ดังนี้
1.) ท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขา ด้วยตุ้มถ่วงน้ำหนัก
- ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้าขวา
- นั่งบนเก้าอี้ที่มีผนังรอง
- ยกขาขวาขึ้นและค่อย ๆ วางขาลง
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง และเปลี่ยนข้าง ทำซ้าอีก 10 ครั้ง
2.) ท่าบริการกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ด้วยตุ้มถ่วงน้ำหนัก
- ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้าขวา
- หันหน้าเข้าหาโต๊ะ หรือราวจับ
- ยกขาขวาขึ้นจากพื้นจนกระทั่งเท้าแตะก้น จากนั้นวางเท้าลง
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง เปลี่ยนข้างและทำซ้ำอีก 10 ครั้ง
3.) ท่าบริหารสะโพกด้านข้าง ด้วยตุ้มถ่วงน้ำหนัก
- ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้าขวา
- ยืนหันข้างให้โต๊ะ หรือราวจับให้มั่น
- ยืดขาขวาให้ตรงและเท้าตรง
- ยกขาขวาขึ้น และลดเท้าลงวางที่เดิม
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง เปลี่ยนข้างและทำซ้ำอีก 10 ครั้ง
4.) ท่าบริหารข้อเท้า
- เริ่มทำที่ละข้าง เริ่มจากข้างขวาก่อน
- ยกขาขวาขึ้นจากพื้น ค่อย ๆ กระดกปลายเท้าเข้าหาตัว จากนั้นกระดกปลายเท้าลง
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง
5.) ท่าเดินต่อเท้า แบบมีราวจับ
- ยืนตรงหันข้างซ้ายเข้ากำแพง ใช้มือซ้ายจับราวให้มั่น
- ค่อย ๆ เริ่มเดินโดยก้าวเท้าไปไว้ข้างหน้าในลักษณะปลายเท้าต่อส้นเท้า และเดินเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ก้าว
- จากนั้นกลับหลังหัน ใช้มือขวาจับราวเดินต่อเท้ากลับอีก 10 ก้าว
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง
6.) ท่ายืนขาเดียว แบบมีราวจับ
- ยืนตรงหันข้างซ้ายเข้ากำแพง/ราวจับ ใช้มือจับราวจับให้มั่น (ข้างไหนก็ได้)
- ยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นและยืนด้วยขาข้างเดียว นาน 10 วินาที
- จากนั้นเปลี่ยนข้างอีก 10 วินาที
7.) ท่าลุกจากเก้าอี้ ไม่ใช้มือพยุง
- นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงแข็งแรงไม่เคลื่อนไหว และไม่เตี้ยไปนัก
- วางเท้าหลังหัวเข่า
- ค่อย ๆ โน้มตัวไปด้านหน้าและลุกขึ้น โดยไม่ใช้มือช่วยพยุง
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ห่วงคนเมืองขาดวิตามินดี รู้สาเหตุช่วยเสริมแกร่งกันโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : HITAP