อยู่ๆ มีรอยฟกช้ำปริศนาขึ้นตามตัว เตือน “โรคร้าย-ขาดวิตามิน”
เคยสงสัยหรืองงที่อยู่ๆตื่นมาก็มีรอยฟกช้ำบนตัวบ้างไหมคะ ว่าเกิดจากอะไรทั้งๆที่ก็ไม่ได้ไปซุ่มซ่ามที่ไหน เอ๊ะ หรือเราเดินละเมอไปชนอะไรเข้า
มาดูกันก่อนว่ารอยช้ำเขียวและฟกช้ำ เกิดจากอะไร อาการดังกล่าวคือ การบาดเจ็บที่เนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดแดงที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง จนเลือดมาคั่งอยู่ใต้ชั้นผิวหนังชั้นนอก ทำให้เห็นเป็นรอยคล้ำดำเขียว ซึ่งรอยช้ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แค่เผลอเอาตัวไปกระแทกหรือเดินชนอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย แต่สำหรับบางคนที่เกิดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุนั่นหมายความว่า คุณมีแนวโน้มเกิดรอยช้ำง่ายกว่าคนอื่นด้วยหลายปัจจัย
“ทำไมสิวถึงชอบขึ้นวันสำคัญนัก” แนะวิธีรับมือสิวตัวการหน้าพัง
โรคร้าย “มะเร็ง สมอง หัวใจ” รู้ก่อนรักษาได้
สาเหตุของรอยช้ำอาจเกิดจาก
- อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังจะบางลงร่างกายผลิตคอลลาเจนลดลง และสูญเสียชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ที่ทำหน้าที่เสมือนเบาะคอยรองรับแรงกระแทก อีกทั้งเส้นเลือดยังเปราะแตกง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณมีโอกาสเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น
- ทานอาหารเสริมบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ยาต้านเกล็ดเลือด (Anti-platelet drugs) ยาเจือจางเลือด (Blood thinner) หรืออาหารเสริมบางชนิด เช่น น้ำมันปลา สารสกัดใบแปะก๊วย จะไปลดความสามารถในการแข็งตัวของเลือด และทำให้คุณเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ก็เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดบางลง และทำให้เกิดรอยช้ำง่ายขึ้นเช่นกัน หากคุณกินยาเหล่านี้แล้วพบรอยช้ำ อย่าหยุดกินยากะทันหัน แต่ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- จากการขาดวิตามิน ที่เป็นสารอาหารที่จำเป็นในการเยียวยาและซ่อมแซมร่างกาย หากคุณได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ ที่อาจจะทำให้เกิดแผลและรอยขีดข่วนต่างๆ หายได้ยากขึ้นอีกด้วย โดยปกติแล้ว การขาดวิตามินซีอย่างหนักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้หากคุณอายุมาก หรือสูบบุหรี่
- ปัจจัยทางกรรมพันธุ์หากสมาชิกในครอบครัวคุณมีแนวโน้มเกิดรอยช้ำง่าย คุณก็มีโอกาสเกิดรอยช้ำได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นผู้หญิง เพราะหลอดเลือดเปราะแตกง่ายกว่า โดยเฉพาะในบริเวณต้นแขน ต้นขา หรือก้น
- จากแสงแดด หากคุณได้รับมากเกินไป โดยเฉพาะรังสียูวีบี (UVB) ที่ทำให้ผิวไหม้แดด และสูญเสียความยืดหยุ่น ทั้งยังทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ชั้นผิวหนังของคุณอ่อนแอลง ซึ่งรอยช้ำที่เกิดจากแสงแดดจะแตกต่างจากการกระแทก เพราะเมื่อกดลงไปจะไม่นิ่มบุ๋ม และใช้เวลาในการรักษานานกว่า
- เป็นโรคเลือด โรคเลือด เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด หรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นสาเหตุให้เลือดไม่ค่อยแข็งตัว จึงทำให้คุณเกิดรอยช้ำบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ฉะนั้น หากคุณเกิดรอยช้ำกะทันหัน หรือมีรอยช้ำแบบไม่รู้ที่มาที่ไปบ่อยๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- ออกกำลังกายหนักเกินไป บางครั้งการออกกำลังกายแบบเข้มข้นหรือหนักหน่วง ทำให้กล้ามเนื้อของคุณทำงานหนักและตึงเกินไป จนเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงฉีกขาดและเกิดเป็นรอยช้ำได้ในที่สุด
- ดื่มหนัก การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปแล้วเกิดรอยช้ำง่าย เป็นสัญญาณที่ตับคุณกำลังมีปัญหา เช่นโรคตับแข็ง เพราะตับมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด เมื่อตับทำงานผิดปกติ ไม่สร้างโปรตีนตามที่ควร คุณจึงมีเลือดออกหรือมีรอยช้ำง่ายกว่าปกติ ถือเป็นอาการเจ็บป่วยร้ายแรงควรรีบปรึกษาแพทย์
- เป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ได้เช่นกัน หากคุณมีรอยฟกช้ำ ร่วมกับปวดเมื่อย เหนื่อยล้า และอ่อนเพลียตลอดเวลา หรือน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่าปล่อยเอาไว้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
สังเกต 5 อาการ บอกโรค "หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง"
ลดรอยฟกช้ำด้วยทริกง่ายๆ
- หากเกิด ฟกช้ำ ควรยกบริเวณรอยช้ำให้สูงกว่าหัวใจ แล้วประคบน้ำแข็ง วิธีนี้จะช่วยให้รอยช้ำไม่ขยายใหญ่กว่าเดิมและหายเร็วขึ้น
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน เช่น ฟุตบอล
- หากต้องกินยา เช่น ยาเจือจางเลือด ตามคำสั่งของแพทย์ ควรติดตามผลและปรับยาให้เหมาะสมอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
มีรอย ฟกช้ำ เมื่อไหร่ควรไปปรึกษาหมอ
- มีรอยช้ำบ่อย และเป็นรอยช้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบนลำตัว แผ่นหลัง หรือหน้า หรือมีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีรอย ฟกช้ำ ง่าย และมีประวัติเสียเลือดมาก เช่น ระหว่างผ่าตัด
- มีรอยช้ำกะทันหัน โดยเฉพาะเมื่อคุณเริ่มใช้ยาตัวใหม่
- ครอบครัวมีประวัติ
- มีอาการเลือดออกที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย
- มีรอยช้ำแล้วเจ็บปวดมาก หรือเป็นรอยช้ำนานกว่า 2 สัปดาห์
นอกจากวิธีจากภายนอกแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเองจากภายในได้เร็วยิ่งขึ้น โดยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคในปริมาณมาก เช่น ผักคะน้า บล็อคโคลี ถั่วเหลือง ผักกาดหอม สตรอเบอร์รี่ ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น เลือกรับประทานผลไม้อย่างสับปะรดที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของธาตุสังกะสี (Zinc) เช่น ผักโขม เมล็ดฟักทอง และพืชตระกูลถั่ว เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาซ่อมแซมให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกติให้เร็วขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท
ทำนายโรคจาก ตำแหน่งสิวขึ้น หมั่นสังเกต รู้ไว้ไม่เสียหาย
รู้จักกลุ่มฮอร์โมนสำคัญรักษาสมดุลร่างกายก่อน“ผิวเครียด”แก่ก่อนวัย