อายุน้อยก็เป็นได้! 5 สัญญาณเตือนโรคหัวใจ วิธีดูแลให้สมดุลแข็งแรงตลอดชีวิต
อายุน้อยก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หากไม่ทันสังเกตสัญญาณเตือนของร่างกายและไม่เห็นความสำคัญของการรักษาสมดุล
หัวใจ เสมือนเครื่องปั๊มน้ำให้กับร่างหายเพราะมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยในแต่ละวันหัวใจต้องทำการเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง ซึ่งการที่หัวใจต้องทำงานตลอดเวลาและเป็นเวลานานก็มีสิทธิ์ที่จะทำงานผิดปกติและเสื่อมถอยลงไปตามอายุ และสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนอันตรายเริ่มต้นจากโรคหัวใจ
- อาการหอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ จริงอยู่ที่อาการหอบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว บางครั้งหอบจนแทบพูดไม่ได้ ก็อาจสันนิฐานถึงโรคหัวใจได้
“ภาวะหัวใจล้มเหลว” ภัยเงียบ รุนแรงเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต
รู้จักเครื่อง ECMO พยุงหัวใจและปอดให้ผู้ป่วยโควิด-19
- เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจจะรู้สึกเจ็บ หรือแน่นร้าวไปถึงแขน รู้สึกหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักกดทับอยู่บนอก แทบจะเป็นสัญญาณใหญ่ๆที่ร่างกายฟ้องได้เลยค่ะ
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติแล้วหัวใจของเราจะเต้นอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที แต่อาการโรคหัวใจนั้นหัวใจอาจจะเต้นเร็วถึง 150-250 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน
- หน้ามืด เป็นลมบ่อย อาการที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากการที่หัวใจมีการหยุดเต้น จึงทำให้หมดสติไปชั่วคราวได้ ซึ่งหากเกิดอาการเช่นนี้บ่อยๆ ไม่ควรปล่อยไว้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
- ขาบวมผิดปกติ เพราะเลือดที่ขาไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวก ทำให้เลือดค้างและทำให้ขาบวมได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวมร่วมกับอาการอื่นๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจได้เช่นกัน
หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย
เมื่อรู้ถึงวิธีสังเกตโรคแล้ว การป้องกัน รักษา หัวใจ ให้ห่างจากโรค บำรุงให้อยู่ในความสมดุลตลอดชีวิต ก็สำคัญเช่นกัน งั้นมาดูวิธีง่ายๆ เพื่อดูแลหัวใจที่มีเพียงดวงเดียวของคุณกันเถอะ
- เลี่ยงไขมันทรานส์ อาหารประเภท เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม เนยเทียม มาการีน จังก์ฟู้ดส์ อาหารทอดต่าง ๆ ต่างอุดมไปด้วยไขมันทรานส์ที่มีการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืชให้คงสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลวเพื่อให้น้ำมันมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการทอด เพิ่มระดับไขมันเลว (LDL – Low – Density Lipoproteins) ลดระดับไขมันดี (HDL – High – Density Lipoproteins) จึงส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา หากบริโภคในปริมาณที่เกินพอดีหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน และเป็นต้นเหตุที่ภาวะหลอดเลือดหัวใจเสื่อมมักพบคนอายุน้อยขึ้นเรื่อยๆ
- ระวังเบาหวานและไขมันในเลือดสูง จากพฤติกรรมการกินที่เกินลิมิต ทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานและภาวะไขมันในเลือดสูงตั้งแต่อายุน้อย ย่อมเป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร โดยทั้งสองภาวะทำให้ผนังหลอดเลือดหัวใจอักเสบเรื้อรัง หากอุดตันจะส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดเรื้อรังหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลจึงมีความสำคัญ
ผักผลไม้ดีต่อสุขภาพของ "หัวใจ" ป้องกันให้แข็งแรงห่างไกลโรค
- การสูบบุหรี่ มีผลต่อหัวใจโดยตรง ไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยล้วนเป็นตัวกระตุ้นการตีบตันของเส้นเลือดหัวใจให้เร็วขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 เท่า เนื่องจากสารนิโคตินและก็าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่และสารอื่น ๆ ที่พบ ทำให้เส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา หัวใจเต้นไม่ปกติ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
- ทานปลาบำรุงหัวใจ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก และปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล ล้วนมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ โดยผลการศึกษาในวารสาร JAMA ระบุว่า การที่ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 จะลดการเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรงได้ถึง 10% อีกทั้งยังลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตันเพิ่มความยืดหยุ่นให้หลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และลดระดับคอเลสเตอรอล แต่หากไม่ค่อยได้ทานเมนูปลา การทานน้ำมันปลาในรูปแบบแคปซูลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งควรประเมินความเสี่ยงโดยแพทย์เฉพาะทางก่อนรับประทาน
- ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เน้นการเบิร์นไขมันด้วยการออกกำลังแบบ Fat Burn เป็นการออกกำลังกายในช่วงที่อัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสมและมีสัดส่วนการเผาผลาญไขมันมากที่สุด อย่างน้อย5วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าอยากให้หัวใจแข็งแรง ไม่ควรนอนน้อยกว่า 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน ให้ ร่างกายยังคงได้พักผ่อน แต่สมองจะตื่นตัวขึ้นเพื่อกระตุ้นส่วนความจำให้ทำงานได้เต็มที่
- จัดการความเครียด ความเครียด และความเครียดเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ส่วนความเครียดฉับพลัน โดยเฉพาะความเศร้าหลังจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเดือนแรกเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 2 – 3 เท่า และหากมีภาวะซึมเศร้าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจประมาณ 1.5 – 2 เท่า ดังนั้นการจัดการความเครียดจึงมีความสำคัญ ฉะนั้นการออกไปทำกิจกรรมพบปะเพื่อนบ้างจะช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ เพราะการมีความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationship) ที่ดีกับบุคคลอื่นมีส่วนช่วยในการลดความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า นำมาซึ่งการมีหัวใจที่แข็งแรง เพราะเกิดความเชื่อใจ สบายใจ เพิ่มแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน
จะเห็นได้ว่าทั้งระบบของร่างกายล้วนสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ทั้งร่างกายและจิตใจ เราจึงต้องดูแลควบคู่กันไปอย่างสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ไม่ใช่เพียงโรคหัวใจ
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล,โรงพยาบาลกรุงเทพ
10 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ "โรคหัวใจ" ที่ควรทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง