ปีใหม่ 2566 เที่ยวอย่างไรให้สุขภาพดี เช็กเบอร์โทรฉุกเฉิน-ยาที่ควรพก
เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ทั้งที ก็ต้องเที่ยวหรือไปปาร์ตี้ แต่จะเตรียมตัวอย่างไรให้สุขภาพดีตลอดทริป เพราะถ้ามาป่วยเอากลางครันคงจะหมดสนุกแน่!
ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้หยุดทั้งที เชื่อว่าหลายๆ คนคงกำลังเตรียมตัวออกเดินทางไปผักผ่อน และร่วมฉลองปีใหม่กับคนในครอบครัว ซึ่งในแต่ละทริป ไม่ว่าจะขึ้นเหนือหรือลงใต้ ร่างกายก็ต้องพร้อมเสมอ เพราะถ้ามาป่วยเอากลางครันคงทำให้ตลอดทั้งทริปไม่สนุกแน่ แถมยังพลาดโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ในที่ๆ อยากไปสะอีก
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง จะช่วยให้คุณได้ท่องเที่ยวอย่างอิสระ เป็นไปตามแพลนที่คิดไว้
ส่อง "อาหารมงคล" ฉลองปีใหม่ ทั่วโลกเขากินอะไรกันบ้าง
ส่อง 6 เทรนด์ “สุขภาพ-สุขภาวะ” น่าจับตามองในปี 2566
5 สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเดินทาง
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากนอนน้อย อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการหลับใน ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น
- ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง ว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านใดบ้าง เพราะในแต่ละพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
- หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเดินทาง และควรเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา จะสามารถรักษาได้อย่างตรงวิธี
- ออกกำลังกายก่อนออกเดินทาง เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อต้องขับรถหรือนั่งรถเป็นเวลานานๆ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างการเดินทาง เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อันตรายถึงชีวิตตามมา
ฉลองปีใหม่อย่างไรให้สุขภาพดี
ช่วงปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างรอคอยกันมาตลอดทั้งปี เพราะเป็นเวลาที่มีความสุข และได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับครอบครัวหรือคนที่เรารัก และเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ที่ทุกคนจะดื่มกันสุดเหวี่ยง
ในบางคนอาจทำติดต่อกันหลายวัน อาจทำให้ร่างกายของเรารู้สึกอ่อนเพลียจากการไม่ได้พักผ่อน และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพที่ตามมา อย่าง “ภาวะไขมันพอกตับ” ซึ่งสามารถทำให้เกิด “ตับแข็ง” และ “มะเร็งตับ” ตามมาได้
แต่หากเรามีการหักห้ามใจ ให้ดื่มในปริมาณที่พอดี พักผ่อนให้เพียงพอ แล้วเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้เรามีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่
ที่สำคัญโควิด-19ยังไม่ได้หายไปไหน แม้จะถูกปลดล็อก ลดระดับความน่ากลัวลงให้กลายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทน ก็ต้องสวมแมสก์ หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างกันด้วย รวมถึงอย่าลืมตรวจหาเชื้อโควิด-19กัน ทั้งก่อนและหลังเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของคนรอบตัวเรา
ส่องพฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด
จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมเสี่ยงโควิด-19 ดังนี้
- ไปกินหมูกระทะ ชาบู สุกี้ ร่วมกันกับเพื่อน ญาติ ครอบครัว 78.7%
- ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสด 68.6%
- ไปร่วมงานเลี้ยงปีใหม่กับที่ทำงาน 39.4%
- ไปเคานต์ดาวน์ตามห้างสรรพสินค้า หรือปาร์ตี้ส่วนตัวกับเพื่อนๆ 37.8%
- ไปเที่ยวงานประจำปีของพื้นที่ 33.9%
ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้ ขอให้หลีกเลี่ยง แต่ถ้าใครที่กำลังมีแพลนไปทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็ขอให้ป้องกันตัวเองอย่างสูงสุด
4 ยาไทยที่ควรพกระหว่างเดินทาง
แน่นอนว่าช่วงปีใหม่หลายคนต้องเดินทางไกล หรือต้องไปฉลองกับเพื่อนๆ ครอบครับ หรือคนรักกันอยู่บ่อยๆ กรมการแพทย์แผนไทย จึงแนะนำ 4 สมุนไพรที่ควรพกติดตัว ติดรถไว้ ดังนี้
- ยาดมสมุนไพร บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้สดชื่นและผ่อนคลาย
- ยาฟ้าทะลายโจร บรรเทาอาการหวัดและท้องเสียชนิดไม่ติดเชื้อ
- ยาหอมอินทจันทร์ บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และช่วยให้ร่างกายสดชื่น
- ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ จิบเมื่อมีอาการไอ แต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้
ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดตัว
นอกจากจะพกเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย หรือยาไทยบรรเทาอาการต่างๆ แล้ว ยาสามัญประจำบ้านเองก็สำคัญ แต่สิ่งที่ควรมีติดตัวไว้เป็นอาวุธข้างกาย มีดังนี้
- ยาโรคประจำตัว
- พาราเซตามอล กินแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง
- ยาแก้แพ้ ซึ่งไม่แนะนำให้กินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกลุ่มยาระงับประสาท
- ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด อักเสบ ตึงกล้ามเนื้อ ซึ่งควรระวังเรื่องการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงต้องกินหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมาก ๆ
- ยาแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน โดยต้องกินก่อนเริ่มกิจกรรมหรือการเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง
- โลชันกันยุง
- ชุดยาทำแผลสด เช่น เบตาดีน น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ล้างแผล พลาสเตอร์ยาปิดแผล ลำลี ผ้ากอซ
- ยาแต้มสิว มีไว้ใช้เพื่อความมั่นใจในทุกครั้งที่เสียงชัตเตอร์ลั่น สำหรับในผู้ที่เป็นสิวง่าย
เบอร์ฉุกเฉินที่ต้องเซฟไว้
- 1669 เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ไหน สามารถโทรแจ้งเบอร์นี้จะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือดูแล
- 191 เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง
- 1137 ศูนย์จราจรอุบัติเหตุ
- 1155 สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว
- 1192 โจรกรรม รถยนต์-จักรยานยนต์
- 1146 ศูนย์ความปลอดภัยกรมทางหลวงชนบท
ดังนั้นเพื่อให้คุณได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างไรขีดจำกัด ได้มีความทรงจำที่ดีกับคนที่คุณรัก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนวิธีปาร์ตี้ให้ดีต่อสุขภาพกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่อง 6 เทรนด์ “สุขภาพ-สุขภาวะ” น่าจับตามองในปี 2566
เปิดเทคนิคกดจุดง่ายๆ บรรเทาอาการ “จาม-ไอ-คัดจมูก” จากภูมิแพ้