6 ปัญหา "เท้าผิดรูป" ที่พบได้ตั้งแต่เกิด รักษาช้าอาจต้องผ่าตัด
เช็ก 6 ปัญหา "เท้าผิดรูป" ในเด็กเล็กที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด แนะรีบพาลูกเข้าพบแพทย์ หากรักษาช้าไปอาจต้องผ่าตัด
"เท้า" เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ควรได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะการมีเท้าที่สมบูรณ์หมายความว่าคุณจะไม่มีปัญหาในการเดินแน่นอน แต่ในเด็กบางคนอาจมีโอกาสที่จะประสบปัญหาเท้าผิดรูปตั้งแต่เกิดได้เหมือนกัน
ทำไมเท้าถึงสำคัญ
เท้า ประกอบด้วยนิ้วเท้าและตัวเท้า โดยนิ้วเท้าจะเรียงจากใหญ่ไปเล็ก มีจำนวน 5 นิ้วเท่ากับนิ้วมือ ส่วนตัวเท้าจะมีรูปร่างรีๆ อาจมีความโค้งเล็กน้อยทางขอบเท้าด้านใน หรือส่วนที่เรียกว่า "อุ้งเท้า" ขณะที่ขอบเท้าด้านนอกจะตรง
“ไข่” มีวิตามินดีเท่าไร ทำไมถึงควรกินทุกวัน เสริมสร้างกระดูกแข็งแรง
ปวดหลัง มีไข้! สัญญาณ “กระดูกสันหลังติดเชื้อ” รู้ตัวช้ารุนแรงถึงชีวิต
เท้าคนเราประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นต่อกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นได้หลายทิศทาง และความยืดหยุ่นนี้ทำให้เกิดความนุ่มนวลเวลาเดินนั่นเอง เพราะกระดูกจะช่วยรองรับหรือพยุงน้ำหนักตัวของเราให้กระจายได้สม่ำเสมอทั่วทั้งเท้า ถัดมาในส่วนของข้อเท้า จะต่อไปกับหน้าแข้ง ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้การทำงานของเท้าก้าวเดินไปได้อย่างสมดุล ไม่เจ็บบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
การเดินของเรา อาศัยการสั่งงานจากสมอง ส่วนของเท้าทั้งหมดจะทำหน้าที่เคลื่อนไหวและช่วยกันรับน้ำหนักตัวเวลา ยืน เดิน วิ่ง และกระโดด ดังนั้นถ้าการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ ในเท้าและข้อเท้าไม่ดี แม้เท้าจะยังช่วยรับน้ำหนักตัวได้ แต่ความนุ่มนวลในการเดินจะเสียไป ทำให้เดินได้ไม่สวย ขณะเดียวกันการกระจายของแรงที่มายังส่วนต่างๆ ก็สูญเสียความสม่ำเสมอไป จึงเป็นที่มาของอาการเจ็บเท้า
6 ปัญหาเท้าผิดรูปในเด็กเล็ก
ความผิดปกติเกี่ยวกับเท้าที่สามารถได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ได้แก่
1.) นิ้วเท้าเก/เอียง
นิ้วเท้าเกหรืองุ้ม มักเกิดกับนิ้วนางและนิ้วก้อย เป็นความผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดได้ผ่านทางพันธุกรรม โดยจะมีลักษณะนิ้วงอค่อนข้างมากในช่วงแรกเกิด แต่จะค่อยๆ งอน้อยลงเมื่อโตขึ้น และมักไม่มีผลเสียอะไรชัดเจน การรักษาจึงเป็นการค่อยๆ สังเกตอาการไป เพราะมีน้อยคนมากที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วนิ้วยังผิดรูป หรือ เดินเจ็บจนอาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด
2.) นิ้วเท้ามีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่าเท้าละ 5 นิ้ว
ปกติแล้ว นิ้วเท้าที่ขาดไปมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร และสังเกตเห็นได้ยาก แต่นิ้วที่เกินอาจเบียดกันในรองเท้า และทำให้นิ้วเท้าเจ็บได้ หากรองเท้าบีบสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่รองเท้าหัวกว้าง แต่ในบางคนส่วนเกินมีมาก แม้ใส่รองเท้าหัวกว้างก็ยังเจ็บ กรณีดังกล่าวอาจต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดนิ้วส่วนที่เกินออก
3.) นิ้วเท้าติดกัน
มักไม่เป็นปัญหาหากนิ้วเชื่อมติดกันตลอดทั้งนิ้ว แต่หากมีส่วนของนิ้วที่เป็นร่องระหว่างกันเหลืออยู่ จะทำให้ทำความสะอาดร่องนิ้วเท้าลำบาก มีสิ่งสกปรกหมักหมมได้ การรักษากรณีดังกล่าวจะใช้วิธีการผ่าตัดแยกนิ้ว
4.) เท้ากระดกขึ้นและบิดออกข้าง
ลักษณะของเท้าผิดรูปที่พบบ่อยมากที่สุด คือ หลังเท้าจะวางแนบไปกับกระดูกหน้าแข้ง พบบ่อยในเด็กท้องแรก เชื่อว่าเกิดมาจากที่มดลูกของแม่ยังไม่เคยขยายตัวมาก่อน เมื่อเด็กโตขึ้นกับการขยับตัวลำบาก เพราะถูกเบียดอยู่ในมดลูก เท้าจึงไปยันกับผนังมดลูกอยู่หลายเดือน เมื่อคลอดออกมาจึงมีการกระดกผิดรูปค้างอยู่ อย่างไรก็ตามโชคดีที่หลังคลอด เท้ายังมีโอกาสขยับได้เต็มที่กลับมาปกติได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
5.) โรคเท้าปุก
อีกโรคเท้าที่พบบ่อย คือ ส้นเท้าที่มีลักษณะบิดเข้าข้างใน ขอบของเท้าโค้งมาก และเท้าอยู่ในท่าเขย่ง เมื่อจับเท้าขยับดูจะพบว่าขยับเท้าได้ยาก เพราะข้อต่าง ๆ จะยึดตั้งแต่ปลายเท้าถึงข้อเท้า โรคนี้อาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยโรคนี้ได้แล้ว ควรมองหาว่ามีโรคอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่
โชคดีที่ปัจจุบันมีวิธีการรักษา โดยการค่อ ๆ ดัดเท้าผู้ป่วยแล้วใส่เฝือก ได้ผลดีมาก ข้อสำคัญต้องเริ่มรักษาตั้งแต่อายุน้อย ๆ ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ถ้ารักษาช้า อาจต้องผ่าตัดแทน อย่างไรก็ตามโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นหากพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ ลูกอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไป
6.) โรคเท้าโค้ง
เกิดจากส่วนครึ่งหน้าของเท้าโค้งเข้า เมื่อมองเท้าจากด้านฝ่าเท้า หากเป็นไม่มากนักลองเอามือดัดดู อาจพบว่าเท้าถูกดันไปอยู่ในแนวตรงได้ ในกลุ่มเด็กที่มีอาการไม่มาก เท้าจะค่อยๆ ตรงเองได้ใน 6-12 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงไม่สามารถดัดเท้าให้ตรง ควรรักษาโดยการใส่เฝือก
เด็กที่ได้รับการรักษาตั้งแต่เล็ก มักหายดีได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตามโรคนี้อาจพบร่วมกับข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด จึงมีความสำคัญที่จะต้องตรวจร่างกายส่วนสะโพกให้ละเอียด หากไม่แน่ใจผลการตรวจ อาจพิจารณาตรวจอัลตราซาวนด์ของสะโพกร่วมด้วย
ระบบประสาททำงานผิดปกติ ส่งผลเท้าผิดรูป
สมองเป็นตัวที่ควบคุมการทำงานของเท้า ดังนั้นหากระบบประสาทและสมองผิดปกติ อาจเห็นได้จากความผิดปกติของรูปเท้าได้ด้วย โรคทางสมองที่ทำให้เกิดการเขย่งของเท้าได้บ่อย คือ "โรคสมองพิการ" ซึ่งพบบ่อยในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดลำบาก เด็กกลุ่มนี้มักจะเดินช้า ตัวเกร็ง และอาจมีอาการกระตุกหรือชัก ซึ่งจะต้องรักษาอาการทางสมองก่อน เพราะการแก้ไขปัญหาของเท้าสามารถทำได้ภายหลัง
จะเห็นว่าโรคของเท้ามีหลากหลาย ส่วนมากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้ป้องกันลำบาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง หรือรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พบความผิดปกติของเท้าลูก ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์ เพราะยิ่งรักษาได้เร็ว ยิ่งดี หากช้าไป บางโรคอาจต้องผ่าตัดแทน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
กระดูกหักเสี่ยงอะไรบ้าง รักษาไม่ถูกอาจพิการ เช็กวิธีป้องกัน-ดูแลรักษา
“ไข่” มีวิตามินดีเท่าไร ทำไมถึงควรกินทุกวัน เสริมสร้างกระดูกแข็งแรง