7 สัญญาณ “มะเร็งปากมดลูก” คร่าชีวิตผู้หญิงลำดับต้นๆ แม้มีวิธีป้องกัน
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอับดับ 2 ในผู้หญิง รองจากมะเร็งเต้านม และเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่รู้สาเหตุอีกทั้งยังมีวัคซีนป้องกัน แต่ก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงอยู่ดี เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักเป็นมะเร็งในระยะลุกลามและมองข้ามการการป้องกัน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และไม่สังเกตุสัญญาณเตือนของร่างกาย
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก มาจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus บริเวณเซลล์ปากมดลูก และเชื้อนั้นเกิดการกลายพันธุ์จนพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด โดยเชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อกันได้จากการมีเพศสัมพันธ์ และแม้จะใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับเชื้อ HPV ในระยะแรก มักไม่แสดงอาการเนื่องจากเชื้อยังไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็ง โดยเชื้อจะใช้เวลาพัฒนาอยู่ในร่างกายประมาณ 10-15 ปี ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง
สัญญาณมะเร็ง 3 อันดับคร่าชีวิตผู้หญิง เจอเร็วโอกาสหายสูง ลดการเสียชีวิต
มีเซ็กซ์ปลอดภัยไม่ติดเชื้อ HPV เชื้อก่อมะเร็งปากมดลูก-มะเร็งช่องคลอด
จากนั้นร่างกายจึงเริ่มแสดงอาการออกมา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือมีอาการแล้ว เมื่อเข้ารับการตรวจจึงพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วนั่นเอง
สัญญาณเตือนมะเร็งปากมดลูก
- มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ทั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว รวมถึงการมีประจำเดือนมามาก หรือกะปริบกะปรอยในระหว่างรอบเดือนด้วย
- มีตกขาวผิดปกติออกจากช่องคลอด เช่น ตกขาวที่มีเลือด มีหนอง มีเศษเนื้อปน รวมทั้งสี กลิ่น และปริมาณที่ผิดปกติ
- มีอาการเบื่ออาหาร ทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหารจนทำให้น้ำหนักลดลง
- มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการทานอาหารได้น้อยลง หรือมีภาวะโลหิตจาง
- ปวดบริเวณท้องน้อยผิดปกติ อาจทำให้ขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก หรือมีเลือดออกมา
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หากเตรียมตัวพร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ยังรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์อยู่ อาจเป็นสัญญาณเล็กๆ ของอาการมะเร็งปากมดลูกได้
- ขาบวม จะเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว
สธ.เร่งฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็ก ป.5 ที่ตกค้างตามสิทธิ
มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้หรือไม่ ? จากปัจจัยและความเสี่ยงดังกล่าว เราสามารถลดเสี่ยงและป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนี้
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีคู่นอนหลายคน
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกๆ 1-2 ปี โดย หากผู้หญิงไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
- ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (ป้องกันการติดเชื้อ HPV) โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี หรือแม้ในผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดได้เช่นกัน โดยมีอยู่ 2 ชนิด คือ
- ชนิด 4 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%
- ชนิด 9 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า 90%
อย่างไรก็ตามหากพบสัญญาณอาการเตือนที่กล่าวมาข้างต้น ร่วมกันหลายอาการ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะถึงแม้หากตรวจแล้วไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ก็ได้ แต่จะให้ดีที่สุด คือควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหมั่นตรวจภายในเป็นประจำเมื่อถึงวัยอันควรนับเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล
กรุ๊ปเลือดไหน? เสี่ยง “มะเร็งกระเพาะอาหาร” มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น
“ปัสสาวะเล็ด”ในผู้หญิงขณะไอ-จาม ปัญหาที่รักษาได้ไม่ต้องผ่าตัด