วิทยาศาสตร์พบคนที่ “หยุดหายใจขณะหลับ” เสี่ยงสมองเสื่อม
สะดุ้งตื่นเหมือนขาดอากาศ อย่าละเลย! วิทยาศาตร์พบคนที่มีอาการภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงสูญเสียเซลล์ประสาทและสมองเสื่อม
การศึกษาล่าสุดค้นพบว่าส่วนหนึ่งของสมองที่เชื่อมต่อกับหน่วยความจำ หดตัวลงในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอย่างรุนแรง หรือคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นเวลา 10 วินาทีขึ้นไปในหลายๆ ครั้งต่อคืน
อย่างไรก็ตามภาวะสมองเสื่อมนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนๆ นั้นมีปัญหาการสะสมของ “โปรตีนอะมัยลอยด์” ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นของอัลไซเมอร์ อยู่ในสมองด้วย
6 สิ่งที่ไม่ควรทำถ้าตื่นกลางดึก เสี่ยงกลับไปนอนต่อได้ยาก
วิทยาศาสตร์ชี้ปัญหาการนอน อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ 5 เท่า
การศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 บนวารสารการแพทย์ Neurology ของ American Academy of Neurology โดยพวกเขาได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 122 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 69 ปี ไม่มีปัญหาด้านความจำ และในจำนวน 26 คน เป็นคนที่มีการสะสมของโปรตีนอะมัยลอยด์ในสมอง
โดยผู้เข้าร่วมได้รับการสแกนสมอง ทดสอบความจำ และศึกษาการนอนหลับ ยาวนานเป็นเวลาประมาณ 21 เดือน
ผลปรากฏว่าในคนที่มีการสะสมของโปรตีนอะมัยลอยด์ มีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจที่รุนแรงขึ้น และมีขนาดสมองส่วนความจำ ที่เรียกว่า “สมองกลีบขมับส่วนใน” ลดลง ชี้ให้เห็นว่าคนที่มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น ส่วนใหญ่มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ทั้งนี้ในกลุ่มคนที่มีขนาดสมองกลีบขมับส่วนใน ที่ประกอบไปด้วยฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีบทบาทในการสร้างความทรงจำระยะยาว ในจำนวนน้อยอยู่แล้วตั้งแต่แรก พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา และความทรงในช่วงท้าย
ข้อจำกัดในการศึกษาครั้งนี้ คือการให้เรียนรู้ด้วยคำพูดในรูปแบบเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบของการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าความจำที่ลดลงบางส่วนอาจลดลงเนื่องจากความคุ้นเคยในการทดสอบ
อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ ควรวิจัยเพิ่มเติมว่า การรักษาภาวะหยุดหายใจได้จะช่วยป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของระบบประสาทได้หรือไม่
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับกับสมอง
ผู้ใหญ่ประมาณ 936 ล้านคนทั่วโลกที่มีอายุ 30-69 ปีมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และอาจมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้หากยังไม่ได้รับการรักษา วิทยาศาสตร์พบว่าจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากสาเหตุใดก็ตามถึง 3 เท่า
โดยมีผลการศึกษาพบว่า คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะทำลายสารสีขาวในสมองมากกว่าคนที่นอนหลับปกติ โดยทุกๆ 10% ของเวลาการหลับลึกที่ลดลง จะไปเพิ่มรอยโรคในสมอง ซึ่งคล้ายกับผลของการมีอายุมากขึ้น 2.3 ปี
ขณะเดียวกัน การศึกษาในปี 2018 พบเช่นเดียวกันว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง มีแนวโน้มที่จะทำให้เซลล์เนื้อสมองในส่วนที่เกี่ยวกับความทรงจำลดลง
การศึกษาทั้งหมดเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นสำหรับคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้เข้ารับการรักษา เพื่อรักษาสมองของคุณให้แข็งแรงและปราศจากการสะสมโปรตีนอะมัยลอยด์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์ขั้นเริ่มต้น ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียเซลล์ประสาทและการรับรู้ความเข้าใจในที่สุด
เช็กอาการภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับวิธีเช็กว่าตัวเองเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ถ้าคุณมีอาการดังต่อไปนี้ขอให้นัดพบแพทย์
- นอนกรน
- ตื่นขึ้นมาเพราะหายใจแรง, สำลัก หรือหายใจติดขัด เหมือนขาดอากาศ
- ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเจ็บคอและปากแห้ง
- นอนเตะขาไปมาในขณะหลับ
- รู้สึกกระสับกระสายจนต้องการขยับขา ในขณะที่นอนเฉยๆ ช่วงกลางคืน
- ละเมอเดิน
- ฝันร้าย
- ฝันผวา
- ละเมอพูด
- ละเมอทานอาหาร
- ออกท่าทางขณะฝัน
- นอนตกเตียง
- อาการชัก / ชักขณะหลับ
- นอนกัดฟัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : CNN, News Medical Lifesciences และ โรงพยาบาลกรุงเทพ