วิทยาศาสตร์ชี้ปัญหาการนอน อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ 5 เท่า
วิทยาศาสตร์พบปัญหาการนอน อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งเป็นมากยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้นสูงถึง 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีสุขภาพการนอนดี
การนอนกรน นอนไม่หลับพลิกตัวไปมา งีบหลับระหว่างวัน ตื่นกลางดึก หรือการนอนน้อยไปมากไป ล้วนทำให้การนอนหลับของเรามีคุณภาพต่ำ ไม่เพียงเท่านั้นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองด้วย
เป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อนักวิจัยค้นพบความจริงว่า ยิ่งคุณมีปัญหาการนอนหลับมากเท่าไร ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดย คริสติน แมคคาร์ธี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกัลเวย์ในไอร์แลนด์ ระบุว่า
“การนอนหลับ” เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
5 พันล้านคนทั่วโลกเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้นจากไขมันทรานส์
ถ้ามีปัญหาการนอนไม่หลับมากกว่า 5 อาการ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองถึง 5 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับเลย
การค้นพบนี้สอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ ที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับที่ไม่ได้คุณภาพ กับความดันโลหิตสูงและความบกพร่องของหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังมีการวิจัยอื่นๆ อีกที่พบความสัมพันธ์ที่คล้ายคลึงกันระหว่างสุขภาพการนอนที่ไม่ดีกับความผิดปกติต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม
ชั่วโมงการนอนหลับสำคัญ
การศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Neurology เมื่อไม่นานมานี้ ได้ทำการศึกษาประชากรกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 4,500 คน ถือเป็นกรณีศึกษาระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้เข้าร่วมเกือบ 1,800 คน ในการศึกษานี้เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเป็นชนิดของโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยที่สุด คือ มีลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดแดงในสมองจนทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในสมองไม่เพียงพอ
และอีกกลุ่ม ประมาณ 439 คน มีอาการตกเลือดในสมอง เพราะเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อสมองนั่นเอง
โดยการศึกษานี้ได้จับคู่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตามอายุและเพศกับผู้ที่ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง ให้ตอบคำถามเกี่ยวกับคุณภาพการนอนและพฤติกรรมของพวกเขา เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน
ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืนโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่นอนหลับ 7 ชั่วโมงถึง 3 เท่า
ในทางกลับกัน การนอนหลับมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืนโดยเฉลี่ย มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามไม่ว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อขจัดปัญหาอื่นๆ ที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง อาทิ การลดความเครียด การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด การเลิกสูบบุหรี่ รวมถึงการหันมาออกกำลังกายก็ตาม ก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
นอนกรน-หยุดหายใจขณะหลับ เพิ่มความเสี่ยงหลายเท่าตัว
ผลการวิจัยพบอีกว่า ผู้ที่มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับหลายครั้งต่อชั่วโมง จะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 3 เท่าด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น การกรน ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีโอกาสเป็นสูงถึงกว่า 91% หรือมากกว่า 3 เท่าของผู้ที่ไม่ได้นอนกรน
งีบนานกว่า 1 ชั่วโมงก็ไม่ดี
การงีบหลับระหว่างวันเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน คนที่งีบหลับโดยเฉลี่ยนานกว่า 1 ชั่วโมงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ไม่ได้นอนถึง 88% อย่างไรก็ตามการงีบหลับน้อยกว่า 1 ชั่วโมงไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลการวิจัยเบื้่องต้นเท่านั้น จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันว่าการนอนหลับที่มีคุณภาพต่ำนี้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เพราะพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การอยู่ภายใต้ความเครียดการดื่มคาเฟอีนในปริมาณมาก หรือการไม่ได้ออกกำลังกาย เป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะปัจจัยที่มีส่วนร่วมทั้งหมดออกไป
พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพคือยาขนานเดียวที่ได้ผล
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ล้วนเป็นหนทางหลักที่จะช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับไม่ได้คุณภาพ และลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
โดยข้อมูลจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับอย่างต่อเนื่องประมาณ 7 ชั่วโมงต่อคืนสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยที่สุด
ดังนั้นสิ่งสำคัญต่อจากนี้คือ คุณจะต้องมั่นใจว่าสามารถทำให้ตัวเองนอนหลับได้ต่อเนื่องเป็น 7-8 ชั่วโมงทุกคืนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตาม
ส่วนใครที่นอนไม่หลับ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บอกว่า การได้รับแสงแดดเป็นประจำในตอนเช้าและตอนบ่ายช่วยปรับปรุงคุณภาพในการนอนได้ ถือว่าใครที่จะไปลองเดินเล่นรับแสงดูก็ไม่เสียหาย! แต่สำหรับคนที่มีอาการนอนกรน หรือง่วงนอนมากเกินไปในระหว่างวันแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ที่สำคัญช่วงใกล้นอน อย่าพยายามที่จะดูทีวี อ่านหนังสือ หรือทำงาน คุณควรปล่อยวางทำจิตใจให้โล่งๆ จะส่งผลดีที่สุดต่อการนอน และแนะนำว่าใครที่ต้องไปสังสรรค์จริงๆ ให้เว้นระยะห่างระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์หรือการรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
และหากใครมีเวลาตอนเช้าๆ จะออกกำลังกายด้วย นั่นยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะยาขนานเดียวที่ใช้ได้ผลเสมอคือการปรับปรุงรูปแบบการใช้ชีวิต ให้มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ!
ขอบคุณข้อมูลจาก : CNN Health
วิธีหลับง่าย สำหรับคนมีปัญหาด้านการนอนต้องรู้! เคล็ดลับหัวถึงหมอนปุ๊บหลับปั๊บ!
6 สัญญาณ “นอนกรน”แบบนี้! มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่ม 34%