สัญญาณต้องระวังเสี่ยง “มะเร็งกระดูก” วิธีรักษาโดยไม่สูญเสียอวัยวะ
มะเร็งกระดูก ภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน แต่มีอาการสำคัญที่สุ่มเสี่ยงและควรระวัง เช็กเลย หากคุณมีอาการปวดตามข้อและข้ออักเสบ
มะเร็งกระดูก เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยระบบในร่างกายไม่สามารถควบคุมหรือต้านทานได้ ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งหรือแผลมะเร็งในเนื้อเยื่อกระดูก โรคมะเร็งกระดูกมักพบบ่อยในเด็กโต ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี
อาการสำคัญๆ ของโรคมะเร็งกระดูก ได้แก่ อาการปวด ข้ออักเสบ มีก้อนผิดปกติ กระดูกหักจากพยาธิสภาพ ความผิดปกติของระบบประสาท รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ โลหิตจาง และภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
ปวดกระดูกเวลาไหน? เสี่ยง “มะเร็งกระดูก” เผย 4 สัญญาณแรกเตือนโรค
ทำไมผู้หญิงเสี่ยงกระดูกพรุนมากกว่า 3 เท่า-ใครบ้างควรตรวจมวลกระดูก?
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระดูก
แม้ในทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการก่อตัวของเซลล์มะเร็งที่บริเวณกระดูก แต่ก็มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายอย่าง เช่น
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือยีน
- การได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีต่างๆ ยาฆ่าแมลง และสารรังสี
- เกิดจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น การให้เคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา
การรักษามะเร็งกระดูก
การกำจัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายป้องกันและกำจัดมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น รวมทั้งซ่อมสร้างกระดูกของอวัยวะนั้น หากสามารถทำได้ ในการกำจัดก้อนมะเร็งนั้น มักจะทำด้วยการผ่าตัด อาจเป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะกระดูกส่วนนั้นออก หรือเป็นการตัดแขนหรือขานั้นออกเลยก็ได้หากมะเร็งนั้นเป็นระยะท้ายๆ ในการผ่าตัดเอาเฉพาะกระดูกส่วนนั้นออก จะต้องมีการนำกระดูกจากตำแหน่งอื่น หรืออาจเป็นกระดูกของคนอื่นมาแทนที่กระดูกส่วนที่ตัดออกไป
หลังการผ่าตัด มักให้การรักษาเสริมด้วยการฉายรังสีรักษาและการให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นการลดโอกาสเกิดมะเร็งกระดูกซ้ำและลดโอกาสการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ส่วนในรายที่ได้รับการตัดแขนหรือขาออกไปนั้น หลังจากระยะพักฟื้นประมาณ 3 เดือน จะมีการฝึกใช้แขนขาเทียมต่อไป
หลังจากผ่านขั้นตอนการผ่าตัด การให้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัดแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูการใช้งานอวัยวะนั้นๆ เพื่อให้ใช้งานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เป็นต้นว่า การหัดเดิน การหัดใช้แขนเทียม ขาเทียม การทำกายภาพบำบัด การทำกิจกรรมบำบัด เป็นต้น การมาตรวจเป็นระยะตามแพทย์นัดมีความสำคัญมาก นอกจากแพทย์จะตรวจดูว่ามีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหรือไม่แล้ว ยังเป็นการตรวจการหายและสภาพการใช้งานของแขนหรือขาที่ไดรับการซ่อมสร้างไป โดยทั่วไปแล้วการตรวจติดตามอาการนี้จะทำต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้งอย่างเคร่งครัด
“แคลเซียม” กินเยอะอาจไม่ป้องกัน “กระดูกพรุน” แล้วกินแค่ไหนถึงพอดี?
มะเร็งกระดูกโดยไม่สูญเสียอวัยวะ
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกมักใช้การผ่าตัดเป็นหลัก โดยทำร่วมกับการฉายแสงและการให้เคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดไป ปัจจุบันมีการแนะนำให้ทำการผ่าตัดแบบเก็บอวัยวะ (limb-salvage/limb-sparing surgery) เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า คือสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ โดยไม่สูญเสียแขนหรือขา
เนื่องจากในบางกรณี การผ่าตัดอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะของผู้ป่วย ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะ ทำให้เกิดความพิการ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความสามารถในการใช้ชีวิตลดลง อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจนสูญเสียความมั่นใจ
ในปัจจุบัน มีการใช้อุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ (endoprosthesis) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวลที่ไม่ต้องตัดอวัยวะออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก โดยวิธีการผ่าตัดที่มีการใช้อุปกรณ์ทดแทนนั้น แพทย์จะทำการตัดกระดูกและเนื้อเยื่อรอบข้างออก ซึ่งโดยส่วนใหญ่นั้นสามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกหรือมะเร็งออกได้โดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นโรคออก หลังจากนั้นแพทย์จะใส่โลหะข้อเทียมชนิดพิเศษแทนกระดูกส่วนที่ถูกตัดออกไป โดยข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษนี้มีความแข็งแรงและทนทาน ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีอวัยวะครบถ้วน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าการผ่าตัดที่ต้องเสียอวัยวะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท และ ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย
9 อาหารป้องกันกระดูกพรุน-แตกหักง่าย เสริมความแข็งแรงก่อนวัย 30 ปี
มะเร็ง 5 ชนิด ลุกลามเสี่ยง “มะเร็งกระดูก” ตั้งแต่ระยะแรกของโรค