เช็กอาการ "ความดันโลหิตสูง" กำเริบหลังส่ง"ทักษิณ" ส่ง รพ. กลางดึก
รู้จักอาการโรคความดันโลหิตสูง หากกำเริบอาการจะเป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่? หลังกรมราชทัณฑ์นำตัวนายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งโรงพยาบาลกลางดึก
จากกรณีที่ กรมราชทัณฑ์ ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีส่งโรงพยาบาลกลางดึกด้วยอาการนอนไม่หลับและออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ความดันโลหิตสูงกำเริบ อาการของโรคทางการแพทย์เป็นอย่างไร? อันตรายมากแค่ไหน ใครบ้างเสี่ยง ค่าความดันควรอยู่ที่เท่าไหร่ถึงเหมาะสม
โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) จัดเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เป็นโรคที่ควรได้รับการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายระยะสุดท้าย
“ราชทัณฑ์” แจง “ทักษิณ” แน่นหน้าอก-ความดันสูง ต้องส่ง รพ.กลางดึก
รู้จัก 4 โรคประจำตัว “ทักษิณ” หลังราชทัณฑ์รับตัวเข้าเรือนจำ
ความดันโลหิตสูง แบ่งตามสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ชนิด
- ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (primary or essential hypertension) พบได้ประมาณ 95% ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการร่วมแห่งชาติด้านการประเมินและรักษาโรคความดันโลหิตสูงของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน การมีไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด อายุที่มากขึ้น และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ (secondary hypertension) พบได้น้อย คือประมาณ 5-10% ส่วนใหญ่เกิดจากการมีพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยจะส่งผลให้เกิดแรงดันเลือดสูง ส่วนใหญ่อาจเกิดจากพยาธิสภาพที่ไต ต่อมหมวกไต โรคหรือความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติของฮอร์โมน โรคของต่อมไร้ท่อ โรคครรภ์เป็นพิษ การบาดเจ็บของศีรษะ การใช้ยาและการถูกสารเคมี เป็นต้น
ความดันโลหิตเท่าไหร่เป็นปกติ
ผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ควรตํ่ากว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท
อายุน้อยกว่า 60 ปี หรือเป็นเบาหวาน ภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิต ควรตํ่ากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
- ปวดศีรษะ
- เวียนศีรษะ (dizziness) มักพบว่าเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล (epistaxis)
- เหนื่อยหอบขณะทำงาน หรือมีอาการเหนื่อยหอบจนนอนราบไม่ได้ แสดงถึงการมีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว
- อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกสัมพันธ์กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการมีเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากจากภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นมานานๆ
ความเครียดสัมพันธ์กับความดัน
เมื่อเราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน คอทิซอล (Cortisol) และอะดรินาลีน (Adrenaline) ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น ผนังหลอดเลือดหดเกร็งขึ้น ทำให้เกิดความดันเลือดสูงขึ้นในช่วงที่เราเกิดความเครียด ยิ่งถ้าเราเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองด้วยอยู่แล้ว การที่เลือดสูบฉีดเร็วขึ้น แรงขึ้นจะส่งผลให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมา ซึ่งเมื่อเราหายเครียด ความดันก็จะลดลงตามไปด้วย
ผู้ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- มีค่าความดันโลหิต SBP ≥ 180 มม.ปรอท หรือ DBP ≥ 110 มม.ปรอท
- มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงเล็กน้อยหรือขณะพัก
- มีความเสี่ยง หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- มีโรคเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
- มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่นๆ
- เป็นผู้สูงอายุ
- มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่จัด
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
- หัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ มีอาการขาบวม
- ไต อาจเป็นโรคไตเรื้อรัง มีอาการขาบวม ซีด ผิวแห้ง
- สมอง อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่แสดงออก คือ มีอาการปากเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หรืออาจมีภาวะสมองเสื่อม
- ตา อาจเกิดความผิดปกติที่จอประสาทตา
อาหารควบคุมความดันโลหิตสูง อาการไม่กำเริบลดเสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย
แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง
จากการการศึกษาที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าการให้ยาลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกรายควรจะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาร่วมด้วย ดังนี้
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายนํ้า อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย วันละ 15-30 นาที 3-6 วันต่อสัปดาห์ และการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม งดบุหรี่
- จัดการความเครียด
- ลดอาหารเค็มจัด ลดอาหารมัน เพิ่มผักผลไม้ เน้นอาหารพวกธัญพืช ปลา นมไขมันต่ำ ถั่ว รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวานจะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่เพราะมียาบางตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูงจาก : โรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพจาก : gettyimages
6 ผักผลไม้ ลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
รัฐบาลห่วง ปชช. ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หลังผู้ป่วยรายใหม่อัตราสูงขึ้น