เมื่อไหร่จะพูดได้? 5 วิธีช่วยฝึกพูดให้ผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง”
ความผิดปกติเกี่ยวกับการพูดสามารถบำบัดฟื้นฟูได้ โดยคนใกล้ชิดสามารถช่วยเหลือไปด้วยกันได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ “ความผิดปกติเกี่ยวกับการพูด” เนื่องจากความบกพร่องในการสื่อความหมาย ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อในการพูดได้ พูดไม่ชัด พูดแบบลิ้นแข็ง ๆ หรือพูดตะกุกตะกัก เนื่องจากสมองและระบบประสาทได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการพูด
“โรคหลอดเลือดสมอง” รู้เร็ว รักษาไว ห่างไกลความพิการ
อย่าชะล่าใจ ! โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
ส่งผลให้ผู้ป่วยและญาติมีความวิตกกังวล เกิดคำถามคาใจที่ญาติมักจะถามแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่บ่อย ๆ ว่า “เมื่อไหร่จะพูดได้” เพราะลำบากในการสื่อความหมาย ทั้งนี้ญาติและผู้ดูแลสามารถ มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยพูดได้เร็วขึ้น ดังนี้
1. ญาติ และผู้ใกล้ชิดต้องมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง” ฝึกพูด
“ความผิดปกติเกี่ยวกับการพูด” สามารถแก้ไข ฟื้นฟู และบำบัดเพื่อให้ออกเสียง และพูดออกมาเป็นคำ สามารถสื่อความหมายได้อย่างเข้าใจได้ โดยปัจจุบันมีการบำบัดด้านการพูด หรือที่เรียกว่า อรรถบำบัด (speech therapy) เป็นการบำบัดการพูดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพูดได้เร็วขึ้น แต่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากญาติ คนใกล้ชิดและผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเข้าใจสภาพจิตใจผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลใกล้ชิดได้อย่างที่ต้องการ ไม่สามารถอธิบายความรู้สึก อาจสื่อความหมายผิด ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น อาการเกรี้ยวกราด การส่ายศีรษะอย่างไร้ความหมาย หรือการนั่งนิ่งเฉย ซึ่งทำให้การสื่อความหมายถูกจำกัด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การพยายามทำความเข้าใจผู้ป่วย พร้อมทั้งเรียนรู้แนวทางในการช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยร่วมกับนักแก้ไขการพูด
2. เข้าใจความผิดปกติด้านการพูดของผู้ป่วยว่าอยู่กลุ่มใด
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความผิดปกติด้านการควบคุมการพูดที่เกิดขึ้นอยู่ในกลุ่มใด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่การควบคุมกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติ (Dysarthria) และกลุ่มที่การควบคุมโปรแกรมการพูดผิดปกติ (Apraxia) ดังนั้นจึงควรทราบว่าผู้ป่วยที่เราดูแลจัดอยู่ในกลุ่มใด
- กลุ่มการควบคุมกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติ (Dysarthria) จะมีลักษณะการพูดไม่ชัดที่เกิดจากความบกพร่องของเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดทำให้กล้ามเนื้อของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดมีการอ่อนแรง เกร็ง หรือทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กัน การพูดไม่เป็นความ ทำให้มีการพูดเสียงเบา เสียงขึ้นจมูก จังหวะของการพูดช้า พูดไม่ชัด
- กลุ่มการควบคุมโปรแกรมการพูดผิดปกติ (Aphasia) เป็นปัญหาในการสื่อสารโต้ตอบ บางรายมีลักษณะการนึกคำพูดไม่ออก หรือพูดโต้ตอบไม่ตรงคำถาม หรือมีปัญหาด้านความเข้าใจภาษาลดลง มีความผิดปกติของไวยากรณ์ในภาษา ทำให้การเรียงลำดับการจัดรูปประโยคผิดได้ เกิดจากความบกพร่องของสมองส่วนที่ทำหน้าที่โปรแกรมการพูดเสียไป
สิ่งเหล่านี้ญาติต้องวางแผนปรึกษาแนวทางการฟื้นฟูร่วมกับนักแก้ไขการพูด เพราะภาวะการพูดไม่เป็นความแต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกัน และในแต่ละชนิดก็มีระดับความรุนแรงหลายระดับ ซึ่งนักแก้ไขการพูดจะต้องทำการทดสอบประเมินแยกชนิด และระดับความรุนแรง เพื่อวางแผนการฝึก
3. ฝึกอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา
เมื่อทราบแนวทางการฝึกแล้ว การกระตุ้นผู้ป่วยต้องอาศัยครอบครัวช่วยกัน เพื่อให้การสื่อความหมายของผู้ป่วยกลับคืนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่ความสามารถของผู้ป่วยจะกระทำได้ ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาทั้งด้านความเข้าใจและการพูด ให้เน้นฝึกด้านความเข้าใจก่อน โดยเรียกชื่อสิ่งของหรือบุคคลที่คุ้นเคยให้ผู้ป่วยฟัง และสอนการพูดเรียนเสียง อาจใช้การเขียน หรือท่าทางประกอบในการพูด โดยฝึกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลาตามที่กำหนด ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเช่น หากต้องฝึกบ่อย ๆ อาจให้ทำการฝึกทุกวัน วันละ 1- 1.5 ชั่วโมง 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังควรมีการกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟูร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติก่อนเสมอ พร้อมทั้งดูแลในด้านของจิตใจ โดยการให้กำลังใจผู้ป่วย
4. ใช้คำพูดง่าย ๆ สั้น ๆ ชัดเจน ชวนคุยเรื่องต่าง ๆ
เมื่อเริ่มต้นฝึกควรเริ่มแบบง่าย ๆ ใช้คำพูดง่าย ๆ สั้น ๆ และมีรูปแบบเดียวกันในการสอนผู้ป่วยระยะแรก ฝึกกิจกรรมการออกเสียงสระในพยางค์ง่าย ๆ เช่น อา อู อี อาอี เช่น ชี้ตา ชี้หู ชี้ปาก ฝึกให้ผู้ป่วยทำตามคำสั่ง หรือพูดตาม และต้องให้เวลาผู้ป่วยตอบสนองก่อน รอประมาณ 5 วินาที แล้วจึงบอกใบ้คำตอบ
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการออกเสียงของผู้ป่วย ควรช่วยพูดซ้ำ ๆ ขยายคำพูดของผู้ป่วย ต่อเติมในกรณีที่ผู้ป่วยพูดไม่ชัด พูดสั้นเกินไป ควรทำเป็นว่าคุณยอมรับ และเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความมั่นใจในการพูดคุย
5. อย่าให้บรรยากาศช่วงเวลาฝึกพูดเครียดจนเกินไป
ควรฝึกพูดก่อนฝึกกายภาพบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด พยายามชวนคุย เล่าเรื่องตลกให้กับผู้ป่วยฟัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย และมีความสุขเพราะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อาจเชิญเพื่อน ๆ ของผู้ป่วยมาช่วยในการฝึก เพื่อผู้ป่วยจะได้พยายามพูดคุยกับเพื่อน และเพื่อนจะเป็นอีกแรงจูงใจในการฟื้นฟู
นอกจากนี้อาจลองทำกิจกรรมสนุกสนาน สัปดาห์ละครั้ง และขณะทำกิจกรรมให้พยายามชวนพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็นและรู้สึก ในระหว่างการฝึกอาจเกิดจากการเหนื่อยล้าหรือ ฝึกมากเกินที่ผู้ป่วยจะรับได้ ให้ผู้ป่วยพักประมาณ 2 – 3 นาทีแล้วจึงฝึกต่อ
อย่างไรก็ตามทุกการฝึก ญาติควรขอคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดหรือนักแก้ไขการพูด เพื่อทำการประเมิน และวางแผนการฝึกพูดร่วมกัน เพื่อรับโปรแกรมการฝึกพูดไปฝึกต่อที่บ้านได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท