“มะเร็งรังไข่” โรคร้ายระบบอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิงอาการนำและระยะลุกลาม
นอกจาก “มะเร็งเต้านม” และ “มะเร็งปากมดลูก” ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของผู้หญิงแล้ว คุณผู้หญิงที่มีระบบร่างกายที่ซับซ้อนยังต้องระวัง โรคมะเร็งรังไข่ที่แทบไม่มีอาการบ่งชี้ในระยะต้น ทำให้มักจะตรวจพบเมื่ออยู่ในระยะที่3หรือ 4 แล้ว เผยอาการที่ต้องระวัง และใครบ้างเสี่ยงมากกว่าคนอื่น เช็กเลย!
มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้มาก เป็นอันดับ 2 ของ มะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีเกิดขึ้นบริเวณรังไข่ โดยโอกาสที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ทั้งสองข้างพร้อมๆ กันมีประมาณ 25% มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการเกิดมะเร็งรังไข่แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่
- Germ Cell Tumors มะเร็งฟองไข่ที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อน มีโอกาสพบได้ 5%
“มะเร็งรังไข่” ภัยผู้หญิงไม่มีสัญญาณเตือน แค่ท้องอืด-น้ำหนักลงก็เสี่ยงได้
กรกฎาคม เดือนรณรงค์ป้องกันมะเร็งรังไข่ แนะวิธีหลีกเลี่ยงลดความเสี่ยง
- Epithelium Tumors มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวรังไข่ ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ คือประมาณ 90%
- Sex Cord-Stromal Tumors มะเร็งเนื้อรังไข่ ซึ่งพบได้น้อยมาก
สาเหตุของการเกิดมะเร็งรังไข่
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นโรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งนรีเวชอื่นๆ
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
- ผู้ที่มีประจำเดือนเร็ว คืออายุน้อยกว่า 12 ปี
- ผู้ที่หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
- ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก และผู้ที่ต้องใช้ยากระตุ้นการตกไข่
- ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้ที่เคยตั้งครรภ์มากกว่า 2 ครรภ์ขึ้นไป
สัญญาณแรกมะเร็งรังไข่
ระยะเริ่มต้นแทบจะไม่มีอาการบ่งบอกได้ แต่ควรสังเกตอาการความผิดปกติร่วมกันน้ำหนักที่ขึ้นหรือลดอย่างไม่มีสาเหตุ
- อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- กินอาหารนิดเดียวก็รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
- อาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร
- ปัสสาวะบ่อย
จะเห็นได้ว่าอาการที่ปรากฎเหล่านี้แทบไม่มีอันตรายอะไรเลย จึงทำให้กว่าจะรู้ตัวโรคก็ลุกลาม หรือคลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย เริ่มมีอาการปวดท้องมาก หรือมีน้ำในช่องท้องจนรู้สึกท้องโตผิดปกติแล้ว
ระยะของมะเร็งรังไข่
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งกระจายอยู่เฉพาะบริเวณรังไข่ หากตรวจพบในช่วงนี้ ก็จะทำการผ่าตัดรักษาได้ทันท่วงที โดยที่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ หากมีการตรวจภายในเป็นประจำก็มีโอกาสที่จะพบโรคในระยะนี้ได้มากกว่าคนที่ไม่เคยตรวจเลย
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายไปสู่อุ้งเชิงกราน ก็ยังอยู่ในระยะที่ตรวจพบได้น้อยเช่นกัน เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาเลย ทำให้มะเร็งรังไข่ลุกลามกลายเป็นภัยเงียบที่อันตรายกว่าที่หลายคนคิด
- ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายไปสู่เยื่อบุช่องท้อง เป็นระยะที่มักตรวจพบมากที่สุด เนื่องจากหน้าท้องจะขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจากการมีสารน้ำต่างๆ ในท้องมากขึ้น จนสังเกตเห็นได้ถึงความผิดปกตินี้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการตึงและแข็งที่ท้องมากขึ้น แต่น้ำหนักกลับลดลง
- ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ นอกช่องท้อง อาจลามไปที่ตับหรือปอดอย่างรวดเร็ว
การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่
- การตรวจภายในอาจคลำพบก้อนใน บริเวณท้องน้อย การคลำพบก้อนรังไข่ได้ในสตรีวัย หมดประจำเดือน ควรนึกถึงมะเร็งของรังไข่ไว้ด้วย (เพราะตามปกติวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะฝ่อ)
- การทำแพพสเมียร์จากในช่องคลอด ส่วนบนทางด้านหลัง อาจพบเซลล์มะเร็งของรังไข่ ได้
- การตรวจด้วย เครื่องความถี่สูงอาจช่วยบอกได้ว่ามีก้อน ในท้อง ในรายที่อ้วนหรือหน้าท้อง หนามาก คลำด้วยมือตาม ปกติตรวจไม่พบ
- การผ่าตัดเปิดช่องท้อง และตรวจดู เป็นวิธีที่สำคัญ และแม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยโรค อย่างแน่นอนสามารถ ขลิบหรือตัดเอาเนื้อมาตรวจหาชนิดของมะเร็ง และทราบถึงระยะของโรคด้วย
“มะเร็งรังไข่” โรคอันตรายของผู้หญิง มีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 60%
แนวทางป้องกันและรักษามะเร็งรังไข่
มะเร็งมักจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการป้องกันหรือยับยั้งการเกิดโรค เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่พบความผิดปกติ เช่น ปวดประจำเดือนรุนแรง หรือคนที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูก ควรที่จะรีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รักษาได้ทันเวลา โดยการตรวจมะเร็งรังไข่ แพทย์จะตรวจวัดค่าสาร CA125 ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมาจากเยื่อบุอวัยวะในร่างกายเรา เช่น ตับอ่อน รวมถึงที่รังไข่ด้วย โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 0-35 ยูนิตต่อมิลลิลิตร แต่ก็อาจจะมีค่าปกติที่สูงกว่านี้ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งได้เช่นกัน ในกรณีเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะที่ 1 บางทีอาจจะไม่แสดงอาการ ซึ่งหมอจะตรวจสาร CA125 เพื่อช่วยวางแผนในการผ่าตัดเผื่อในกรณีสงสัยเป็นมะเร็งไว้ด้วย เพราะลักษณะการผ่าตัดจะแตกต่างกัน
ดังนั้นผู้หญิงเราจึงควรป้องกันและดูแลตนเอง ด้วยการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการตรวจภายในหรือตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกิน กินอาหารที่มีประโยชน์ และควรลดการกินไขมันจากสัตว์ ทั้งนี้ หากรู้สึกถึงความผิดปกติต่างๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งการรักษามะเร็งรังไข่มีตั้งแต่การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายรังสี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลและ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ภาพจาก : freepik
ผู้หญิงรูปร่าง “ลูกแพร์-แอปเปิล” เสี่ยงมะเร็ง-โรคหัวใจกว่าหลายเท่า
เช็กเลย! อาการแบบนี้ ซีสต์ธรรมดา หรือ มะเร็งรังไข่ ใครบ้างเสี่ยง?