"ไตวายเฉียบพลัน" โรคร้ายที่เกิดแบบไม่ทันตั้งตัว
คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตมากขึ้น สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
ไตเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่ขับของเสีย รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ฉะนั้นการดูแลสุขภาพไตให้ห่างไกลจากความเสื่อมเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
“โรคไต” นั้นมีมากกว่า 1 ชนิด และแต่ละชนิดก็มีสาเหตุ การรักษา และโอกาสที่ไตจะกลับมาทำงานได้ปกติแตกต่างกัน ซึ่งโรคหนึ่งที่เกิดได้แบบไม่ทันตั้งตัว คือ “ไตวายเฉียบพลัน” เราป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้โดยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการก่อโรค
ปรับเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลตามจริง ผู้ป่วยใน "ไตวายเฉียบพลัน"
"รางจืด-ยอ-หญ้าหนวดแมว" ส่งผลต่อไต ตับ หัวใจ ห้ามกินต่อเนื่องนาน ๆ
สาเหตุไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวการณ์ทำงานของไตที่มีความผิดปกติในช่วงเวลาอันสั้น เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้ไตกลับสู่ภาวะปกติได้ โดย นพ.ศานต์ บอกว่า สาเหตุของความผิดปกติ มีดังนี้
- ปริมาณสารน้ำในร่างกายลดลง – เช่น ร่างกายสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสียรุนแรง มีการเสียเลือดรุนแรงจากการที่เลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างหนัก หรืออาเจียนเป็นเลือดในปริมาณมาก ซึ่งกรณีที่สารน้ำในร่างกายลดลงเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง ทำให้เนื้อไตตาย ละเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในที่สุด
- ปัญหาจากไตโดยตรง – เช่น ภาวะไตอักเสบที่เกิดจากการแพ้ยา ได้แก่ ยาในกลุ่มต้านการอักเสบ และยาฆ่าเชื้อที่ได้รับมาในระยะเวลานาน โดยอาการแพ้นั้นแสดงออกที่ไตจึงเกิดปัญหาไตอักเสบหรือไตวายเฉียบพลัน ถ้าพบว่ามีการอักเสบของไตมาก ย่อมมีผลกระทบกับหน้าที่การทำงานของไต
- การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และไตบวมน้ำทั้ง 2 ข้าง
- การติดเชื้อในกระแสเลือด
วินิจฉัยอย่างไร
เมื่อพบความผิดปกติ การหาสาเหตุย่อมเป็นคำตอบที่ดีที่สุด นพ.ศานต์ บอกว่า ไตวายเฉียบพลันสามารถตรวจได้ด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- การตรวจเลือดเพื่อประเมินอัตราการทำงานของไต
- การตรวจเลือดเพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนของโรคไต
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจอัลตราซาวด์
- การตรวจเอกซเรย์
อาการแบบนี้ควรรีบพบแพทย์
ผลเสียของไตวายเฉียบพลันจะคล้ายกับไตวายเรื้อรัง แต่จะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่า หากปัสสาวะออกน้อยอาจทำให้น้ำท่วมปอดได้ และหากพบภาวะเกลือแร่ผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมสูง เลือดเป็นกรด จะเกิดเป็นภาวะไตวายเฉียบพลันที่รุนแรงได้
สิ่งที่บ่งชี้ว่าคุณอาจกำลังเป็นไตวายเฉียบพลัน คือ มีการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง ปัสสาวะน้อยลงอย่างผิดปกติ มีอาการเหนื่อย หายใจผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที
รักษาอย่างไร ให้ไตทำงานได้ตามปกติ
แพทย์จะเน้นรักษาที่ต้นเหตุของโรค พร้อมกับรักษาอาการที่เกิดจากความผิดปกติของไต เช่น กรณีโพรแทสเซียมสูงหรือเลือดเป็นกรด แพทย์อาจพิจารณาให้ยา แต่หากร่างกายไม่ตอบสนองกับยาอาจพิจารณารักษาด้วยการล้างไตเพื่อช่วยประคับประคองให้ไตทำงานน้อยลงและสามารถฟื้นการทำงานกลับมาอีกครั้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่อร่างกายแข็งแรงไตสามารถฟื้นการทำงานกลับมาได้เป็นปกติ จะสามารถหยุดการรักษาด้วยวิธีล้างไตได้ จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้เป็นติ จึงต้องล้างไตตลอดชีวิต
ห่างไกลโรคไตได้ แค่ดูแลตัวเองให้เป็น
เทคนิคการดูแลตัวเองสำหรับคนที่ไตยังไม่ผิดปกติ และยังไม่มีโรคเรื้อรังต่างๆ สามารถทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงสารเคมี ยา ยาสมุนไพร และยาบำรุงต่างๆ ซึ่งควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากปัญหาโรคไตได้
มาตรการพื้นที่สีส้ม-เหลือง จำกัดรวมกลุ่ม ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
"ปวดหัว" ใครว่าไม่ร้ายแรง เช็กอาการเสี่ยงโรคทางสมอง
ข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท