สัญญาณอัลไซเมอร์ ขี้ลืมแบบไหน? รีบพบแพทย์ก่อนสูญเสียการใช้ชีวิต
อาการหลงๆลืมๆ อาจเป็นเรื่องปกติของใครหลายคนที่ไม่ต้องรอให้สูงอายุก็เป็นได้ เพราะการโฟกัสอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป แต่ก็เป็นสัญญาณเด่นของโรคอัลไซเมอร์ที่ต้องระวัง!
อาการขี้ลืม หรือหลงๆ ลืมๆ อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ประเภทของโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด แนะ 10 สัญญาณและวิธีสังเกตพฤติกรรมว่า ลืมแบบไหน? ควรคำนึงถึง อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางชะลอการดำเนินโรค ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิตของผู้ป่วยไม่แย่ลงเร็วเกินไป
10 อาการอัลไซเมอร์
- หลงลืมเรื่องไม่น่าลืม
ผู้ที่เริ่มเป็นอัลไซเมอร์ จะมีอาการหลงลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าความจำระยะสั้น
อัลไซเมอร์คืออะไร? ทำไมถึงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามในสังคมผู้สูงอายุ
วิจัยเผยอ้วนลงพุง เสี่ยง 4 โรคมะเร็งร้าย เชื่อมโยงอัลไซเมอร์
ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่เพิ่งผ่านมา ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะลืม เช่น
- ลืมการฉลองวันเกิดคนในครอบครัวที่เพิ่งผ่านมา
- ลืมว่าเพิ่งไปงานรับปริญญาของหลาน
- มักถามอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งถามไป เพราะลืมไปว่าถามแล้ว
หากเป็นการหลงลืมเพียงครั้งคราว ผ่านไปสักพักกลับนึกขึ้นได้หรือจำได้ นั่นไม่ใช่อาการของโรคอัลไซเมอร์
- ลืมขั้นตอนกิจวัตรประจำวัน
ใช้เวลามากขึ้นในการทำกิจวัตร เช่น ตักข้าว กินข้าว ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และรวดเร็ว รวมถึงกิจวัตรที่มีขั้นตอนซับซ้อนก็ทำได้ช้าลงหรือทำไม่ได้เพราะจำขั้นตอนและกระบวนการในการทำไม่ได้ เช่น
- การติดกระดุมเสื้อ
- การใส่เสื้อผ้า
- ทำอาหารแล้วลืมใส่เครื่องปรุง หรือลืมว่าใส่แล้วจึงใส่อีก
- มีปัญหาในการดูแลตัวเอง เช่น การกิน การอาบน้ำ การขับถ่าย การแปรงฟัน การหวีผม คือทำเองไม่ได้ หรือทำได้แต่ทำไม่ถูกต้อง
- ไม่สามารถซื้อของตามรายการที่ต้องการ ไม่จ่ายเงินตามจำนวนที่ใบเสร็จแจ้ง ซึ่งไม่ใช่การหยิบเงินผิด หรือได้ยินยอดเงินไม่ถนัด มองไม่ชัด หรือแค่เข้าใจผิดเพียงครั้งคราวเท่านั้น แต่เป็นเพราะคำนวณไม่ได้หรือไม่เข้าใจจำนวนเงิน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เคยเข้าใจนั่นเอง
- ลืมเส้นทาง หลงทาง สูญเสียทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืองานออฟฟิศที่คุ้นเคยกลับรู้สึกทำได้ยาก ลืมเส้นทางที่เคยไปเป็นประจำ เช่น เส้นทางไปทำงาน เส้นทางกลับบ้าน ทำให้ขับรถหลงทางบ่อยๆ ลืมทางเข้าสำนักงาน ทางเข้าบ้านที่ปกติเข้าออกเป็นประจำ ก็ขับรถวนไปวนมาหาไม่เจอ สูญเสียทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ การใช้เครื่องไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำไม่ได้ซับซ้อนหรือต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือของชิ้นใหม่
- สับสนเรื่องวัน เวลา และสถานที่
มักจะสับสนในเรื่องวัน เวลา สถานที่ ฤดูกาล หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร และไปทำไม ซึ่งไม่เหมือนกับการลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ วันนี้เป็นวันอะไรของสัปดาห์ ซึ่งเป็นการลืมแบบที่จะนึกออกและรับรู้ได้ในภายหลังเมื่อตั้งสติได้หรือทบทวนเองได้แล้ว
- ไม่เข้าใจในภาพที่เห็น
เวลาเดินผ่านกระจกหรือส่องกระจก พอเห็นภาพในกระจกจะไม่รู้ว่านั่นคือภาพของตัวเองในกระจก ไม่รู้ว่านั่นคือกระจก คิดว่าเป็นอีกห้องหนึ่งที่มีคนอื่นอยู่ในนั้น ซึ่งแตกต่างจากความเข้าใจผิดที่เกิดจากสายตาไม่ดีของผู้สูงวัยทั่วไป
- มีปัญหาในการพูด การเขียน การเลือกใช้คำ
ระหว่างคุยกัน อาจจะมีการหยุดพูดไปดื้อๆ เพราะนึกคำไม่ออก ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรต่อ เรียบเรียงคำไม่ถูก เพราะเกิดปัญหาหลงลืมข้อมูลที่เคยจำได้ พอพูดออกมาก็มักเรียงลำดับคำผิด พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ หรือเรียกชื่อสิ่งของผิด และไม่สามารถเรียกชื่อสิ่งของที่เคยใช้เป็นประจำได้ เช่น ปากกา จาน ช้อน รถ ก็เรียกไม่ถูก
- ลืมของ วางของผิดที่ผิดทาง
มักวางของผิดที่ผิดทางแต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นการวางของผิดที่ เช่น เก็บรีโมตทีวีไว้ในตู้เย็น พอจะหาของที่ปกติเก็บไว้ในที่เดิมๆ กลับหาไม่เจอ เพราะนึกไม่ออกว่าปกติแล้วเก็บไว้ตรงไหน แต่กลับไปหาสิ่งของนั้นในที่ที่ไม่น่าจะไปวางได้ หรือถ้าหากหาของไม่เจอก็จะมักโทษว่ามีคนอื่นหยิบเปลี่ยนที่วาง หรือคิดว่ามีคนมาขโมยไปแล้ว
- สูญเสียการตัดสินใจที่ถูกต้อง
ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีพฤติกรรมการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อมีความจำเป็นต้องไปงานสำคัญ กลับไม่ยอมอาบน้ำ ไม่แต่งตัว ไม่ทำผม และคิดว่าตนเองทำถูกต้องแล้วที่ทำแบบนั้น พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เพราะเกิดจากความขี้เกียจ หรือการไม่ให้ความสำคัญ หรือนิสัยเปลี่ยนไป แต่เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่ตรงกับที่ควรจะเป็น
ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ! หนุ่มจีนอายุ 19 ปี ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์
- แยกตัวและลดการเข้าสังคม
มักไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่อยากทำงานที่เคยทำแบบให้เหตุผลไม่ได้ ไม่อยากพบปะผู้คน เฉื่อยชา ไม่สนใจหรือตื่นเต้นต่อสิ่งต่างๆ เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหาต่างๆ เช่น ลืมเส้นทาง นึกคำไม่ออก ลำดับกิจกรรมที่ต้องทำไม่ได้เหมือนเคย ก็เลยเกิดการแยกตัว ไม่อยากไปไหน
- อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป
มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้นเมื่อต้องไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย มีอาการสับสน หวาดระแวง ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดกลัว และปรับตัวไม่ได้ เป็นแม้กระทั้งกลับหรือออกจากสถานการณ์นั้นๆ มาสักพักแล้ว
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงถึง 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านความจำ ด้านความคิด ด้านคำพูด และ ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ หากสังเกตแล้วพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงวัยใกล้ตัว หรือเริ่มส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนๆ นั้น ก็ควรหาโอกาสพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องตามอาการต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยผู้ป่วยแล้ว คนที่ดูแลผู้ป่วยจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล
ภาพจาก : freepik
“ดูแลสมองก่อนสาย” เพราะความจำถดถอยเป็นสัญญาณเริ่มต้นความเสื่อมของสมอง
“ยากรดไหลย้อน” กินเยอะกินนาน เสี่ยงสุขภาพพังอัลไซเมอร์-กระดูกพรุน