รู้ทุกเรื่อง “บาดเจ็บจากกีฬา” ทริคสอนลูกให้เป็นนักกีฬาแบบ “บอล-ภราดร”
นอกจากปลูกฝังให้รักกีฬาจะสำคัญ การป้องกันการบาดเจ็บก็สำคัญต่อสุขภาพเช่นกัน ชวนฟังประสบการณ์จาก “บอล-ภราดร” กับทริคสอนลูกให้เป็นนักกีฬา
2 นักแข่งแชร์ประสบการณ์ “บาดเจ็บจากกีฬา” เช็กความเสี่ยง-วิธีรักษา ที่นี่!
บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช็กสัญญาณเตือนพบแพทย์-วิธีป้องกันตัวเอง
ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ถือเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” วันนี้ทางพีพีทีวีเลยจะพาไปดูความน่ารักและการดูแลสุขภาพของครอบครัว “บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์” กัน
หลังจาก บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์ ได้ผันตัวเองจากนักเทนนิสสู่โปรกอล์ฟอาชีพ และ “น้องเณอลีน” ลูกสาวของคุณพ่อ อดีตแชมป์ระดับโลก ล่าสุดก็เริ่มฉายแววความเป็นนักกีฬาเหมือนคุณพ่อ คว้าแชมป์กอล์ฟไปครองแล้วตั้งแต่อายุ 6 ขวบ

แต่เทคนิคการสอนลูกให้เป็นนักกีฬา รักการออกกำลังกาย และการดูแลตัวเองเบื้องต้นหากบาดเจ็บจากการออกกำลังกายจะทำอย่างไร บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์ และ น้องเณอลีน ลูกสาว ได้มาเปิดเผยประสบการณ์ผ่านรายการ “Rise and Shine ชีวิตดีเริ่มที่ตัวเรา”
โดย บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์ เล่าให้ฟังว่า “เด็กๆ เขาจะชอบอะไร เราก็ต้องพาเขาไปบ่อยๆ และเด็กจะเล่นกีฬาได้ ก็ต้องพาเขาไปเห็นภาพบ่อยๆ เราก็เลยชอบพาเขาไปตีเทนนิส เล่นกอล์ฟด้วย เป็นการสร้างความชอบให้เขาแบบเนียนๆ
เราอยากให้เขาเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว เหมือนที่เราเป็นมา ส่วนที่เขามาชอบกอล์ฟได้ก็เป็นเพราะว่า เราเห็นท่าทางของเขา เขาดูเล่นกอล์ฟได้ดี มีทักษะ ผมก็เลยชอบพาเขามาตีกอล์ฟอยู่ด้วยกันบ่อยๆ
เวลาเขาไป เราก็จะพาเขาไปเจอคนนู้น คนนี้ เป็นการจัดตารางให้ออกกำลังกาย ให้ซ้อม แบบเนียนๆ ส่วนวันพัก ที่บ้านเราจะมีที่ตีกอล์ฟเล็กๆ ได้ เราก็จะให้เขาตีอย่างน้อยก็ 10 นาที เพื่อให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนบังคับเกินไป ยังอยากให้เขายังรู้สึกสนุกไปกับการเล่นกอล์ฟอยู่ ไม่งั้นเขาจะไม่อยากเล่น
ส่วนการดูแลเขา การเล่นกอล์ฟแน่นอนว่าจะมีอาการบาดเจ็บเรื่อยๆ อย่างเจ็บไหล่ เจ็บขา เราก็จะปลูกฝังเรื่องการยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังซ้อม เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บก่อน แต่หลังจากนั้นคงต้องใช้วิทยาศาสตร์ทางกีฬาช่วยแล้วว่า เขาจะต้องเพิ่ม หรือสร้างกล้ามเนื้อตรงไหนให้แข็งแรง”
รายการRise & Shine ชีวิตดีเริ่มที่ตัวเรา
นพ.ปิยาวัฒน์ ศรีสวัสดิ์นุภาพ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาของกอล์ฟ
ด้าน นายแพทย์ ปิยาวัฒน์ ศรีสวัสดิ์นุภาพ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์ ให้ข้อมูลเรื่องอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเพิ่มเติมว่า กอล์ฟ เป็นการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนและยุ่งยาก จะต้องใช้ร่างกายเริ่มตั้งแต่ ขา เอว และไหล่ มือ เพื่อส่งแรงกระทำจากพื้นขึ้นไปด้านบน เพื่อให้เราบิดตัวแล้วตีกอล์ฟได้
ซึ่งการบิดแบบนี้ ต้องใช้ความยืดหยุ่นและความแข็งแรง เพราะการบิดคือแรงที่เป็นสปริง กล้ามเนื้อที่แข็งแรงแต่ไม่มีความยืดหยุ่น จะบิดได้น้อย แต่ถ้ากล้ามเนื้อยืดหยุ่น จะบิดตัวได้เยอะ แล้วก็ตีแรงระยะสั้น ได้เยอะกว่า
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา คืออะไร
ส่วนการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาคืออะไรนั้น นายแพทย์ ปิยาวัฒน์ และ ข้อมูลจากโรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อมูลอีกว่า คือการเล่นกีฬาแล้วเกิดการกระทบกระทั่ง มีผู้อื่นมากระทำ หรือแม้แต่เสียหลักด้วยตัวเองแล้วเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันเสียไปหรือลดน้อยลง
เช็กอาการปวดจากการเล่นกีฬา
อาการเจ็บ หรือความปวด จากการเล่นกีฬาแบ่งจะต้องดูก่อนว่า 1.) ปวดแบบใด ประเภทแรกคือปวดแบบ ตื้อๆ ตึงๆ สัญญาณแบบนี้จะเป็นแค่กล้ามเนื้อ หรือประเภทที่สองคือปวดแบบแปล๊บๆ เหมือนเข็มตำ ตรงนี้จะเป็นสัญญาญของเส้นประสาท
จากนั้นให้ดูต่อที่ 2.) ตำแหน่งที่ปวด ก็จะรู้ได้ว่าเราปวดที่ส่วนไหน เป็นที่กล้ามเนื้อหรือที่เส้นประสาทใด
สำหรับ นักกอล์ฟ จะปวดที่ข้อศอก ข้อมือ ไหล่ แล้วก็เอวด้านบน พอเริ่มมีการใช้แรงจากขาไปยังมือ อาจจะปวดหลังล่างได้อีก
เมื่อไรควรมาพบแพทย์
สัญญาณเตือนเมื่อไรควรมาพบแพทย์ ได้แก่
- เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
- อาการบาดเจ็บเรื้อรัง ปวดบวมเป็นเวลานานจนรบกวนการใช้ชีวิต
- มีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว
การรักษาการบาดเจ็บการการเล่นกีฬา
สำหรับวิธีรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา มีหลากหลายแบบขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ดังนี้
- การใช้ยา
ลดอาการบวม ยาแก้ปวด หากอาการไม่ดีขึ้น อาจเพิ่มยาแก้ปวดในกลุ่มไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือมีส่วนผสมของมอร์ฟีน ทั้งนี้ยังมียาฉีด ยาทา ยาแปะผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการปวด หากเป็นการฟกช้ำธรรมดา การรักษาส่วนใหญ่ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาต้านการอักเสบเพื่อช่วยลดอาการปวด และพักการใช้งานของข้อต่อบริเวณนั้น
- กายภาพบำบัด
เน้นการลดอาการปวดเป็นหลัก สำหรับอาการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็น หรือข้อกระดูกอ่อน การรักษาอาจต้องใช้วิธีเข้าเฝือกตรงข้อที่บาดเจ็บ หรือช่วยแก้ปัญหากล้ามเนื้อลีบก่อนการผ่าตัด
- การผ่าตัด
กรณีรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัดไม่ได้ผล หรือการบาดเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรง มีการฉีกขาดของเส้นเอ็นทั้งหมด รวมถึงกรณีเร่งด่วน เช่น ข้อหลุด ข้อแตก อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด
โดยปัจจุบันการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากกีฬา เน้นการใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscope) ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อข้างเคียง ฟื้นตัวเร็วขึ้น และยังสามารถส่องกล้องเข้าไปในจุดที่ยากต่อการมองเห็นด้วยการผ่าตัดแบบปกติ ทำให้การรักษาแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยกเว้นในบางกรณีเช่น การผ่าตัดที่ต้องใส่อุปกรณ์ (implant) เพื่อยึดข้อต่อที่ต้องใช้ความแข็งแรง การใส่เหล็กดาม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ที่เป็นข้อจำกัดของการส่องกล้อง
อย่างไรก็ตาม ถ้าใครแยกไม่ออกว่าอาการปวดของเราเป็นที่กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทส่วนไหนกันแน่ แนะนำให้ไปพบแพทย์จะดีที่สุดจะได้ไม่เกิดอาการเรื้อรังขึ้นมา

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์ และ โรงพยาบาลสมิติเวช
“โทษของเบียร์” สารพัดปัญหาสุขภาพ กินทุกวันเสี่ยงตับแข็งไม่ต่างจากสุรา