มีโรคประจำตัวออกกำลังกายได้หรือไม่ ? แนะเทคนิคดูแลสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น
การออกกำลังกาย กิจกรรมที่ช่วยให้โรคประจำตัวต่างๆ สงบได้ ลดภาวะแทรกซ้อน แต่ต้องเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมถูกต้อง ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการรักษา
ออกกำลังกาย นับเป็นการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด นอกจากช่วยในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ การนอนหลับดีขึ้น ยังเป็นยาวิเศษที่ช่วยต่อต้านโรคภัยต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นสารเคมีในสมองให้มีความสุขมากขึ้นด้วย ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว สามารถออกกำลังกายได้เต็มที่
ต่างออกไปสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตามโรคที่เป็น เพราะหากออกกำลังกายผิดอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
3 วิธีออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยความดันสูง-เบาหวานช่วยชะลอโรค
5 เคล็ดลับช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญ ไม่ต้องอดอาหาร แถมได้สุขภาพที่ดี!
Freepik/ freepik
มีโรคประจำตัว ออกกำลังกาย

ออกกำลังกายสำหรับผู้มีโรคประจำตัว
-
ผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือด
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดี กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยควรเข้ารับการประเมินสภาพร่างกายจากแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อจะตรวจการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย และรู้ถึงสัญญาณของโรค และภาวะแทรกซ้อน
ระยะเวลาในการออกกำลังกาย ควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ควรอุ่นเครื่อง (Warm–Up) และเบาเครื่อง (Cool–Down) ก่อนหยุดออกกำลังกายเสมอ ทั้งนี้ควรมีเพื่อนร่วมออกกำลังกาย และมีโทรศัพท์ติดต่อสื่อสารด้วยทุกครั้ง
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหัวใจ คือ เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ โยคะเป็นต้น
-
โรคหอบหืด
ผู้ป่วยควรพกยาพ่นขยายหลอดลมติดตัวตลอด และพ่นก่อนออกกำลัง 15 นาที วอร์มก่อน-หลังออกกำลังกาย
กีฬาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
- กีฬาที่ออกกำลังกายระยะสั้น ๆ พักเป็นช่วง ๆ ได้ เช่น เดินที่ไม่ช้า-เร็วเกินไป วิ่งระยะสั้น ๆ ว่ายน้ำ จะช่วยปอดทำงานดีขึ้น
- โยคะ-แอโรบิค จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ร่างกายผู้ป่วย
เวลาที่เหมาะสม 15-30 นาที เมื่อหอบให้หยุดทันที
-
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
หากมีอาการปวดหัว เวียนหัว หรืออ่อนเพลียเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพราะหากมีความดันโลหิตสูงเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท แพทย์มักแนะนำให้งดออกกำลังกายไปก่อน แต่สิ่งที่ควรทำคือ การปรับพฤติกรรมการกิน การนอน หรือรักษาด้วยการกินยา เพื่อให้ความดันลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถออกกำลังกายได้แบบปลอดภัย
การออกกำลังที่เหมาะสมกับ โรคความดันโลหิตสูงคือ แอโรบิค ทำต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย
-
ผู้ป่วยเบาหวาน
ควรปรึกษาแพทย์ถึงค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายเป็นรายบุคคล ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเท้าเปล่าสวมรองเท้าที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดบาดแผล รวมทั้งการสำรวจสุขภาพเท้าทุกครั้งหลังออกกำลังกายเสร็จ ไม่ออกกำลังกายในสภาพอากาศที่เย็น หรือร้อนจัด
หากช่วงเวลาไหนควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ตามเกณฑ์ที่แพทย์กำหนดว่าให้ออกกำลังกายได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายไปก่อน
ผู้ป่วยควรจดความดัน หรือระดับน้ำตาล ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง รวมถึงประเภท และเวลาของการออกกำลังกายในแต่ละครั้ง เพื่อให้ง่ายต่อแพทย์ในการช่วยพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกกำลังกาย วางแผนการรักษาให้ดีขึ้นได้อีก
การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ เดิน แกว่งแขน รำมวยจีน วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยานว่ายน้ำช้าๆ
ก่อนเริ่มออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ถึงกีฬา และระยะเวลาที่เหมาะสมแบบรายบุคคล และโรคที่เป็น ทั้งนี้อาจเริ่มต้นด้วยเวลาเพียง 10-20 นาทีต่อวัน และในแต่ละสัปดาห์ให้เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จนทำติดต่อกันได้ครั้งละ 30-60 นาที ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้ได้อย่างน้อย 3-5 ครั้ง หรือรวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ และควรทำในเวลาเดิม ๆ ของทุกวัน ทั้งนี้หากไม่สามารถออกกำลังกายแบบใช้แรงหนักได้ อาจจะเน้นเป็นการเพิ่มความยืดหยุนให้กับร่างกาย อย่าง โยคะ และแอโรบิก ได้เช่นกัน
ป่วยเบาหวานก็ออกกำลังกายได้ ยึดหลัก FITT ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น!
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ควรฝืนเมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ หากมีอาการหน้ามืด เวียนหัว เหนื่อยหอบ ใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อล้าในขณะออกกำลังกาย ควรผ่อนแรงช้า ๆ แล้วหยุดพัก หรือขอความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ป่วยไม่ควรหยุดชะงักทันที และควรคูลดาวน์ก่อนเสมอ
ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ผู้มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย แต่ลักษณะการใช้แรง ระยะเวลา และวิธีจะแตกต่างตามความเหมาะสมกับโรค ฉะนั้นการการตรวจสุขภาพประจำจึงสำคัญ ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ตัวผู้ป่วยเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท,โรงพยาบาลกรุงเทพ และกระทรวงสาธารณสุข
หลักการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ให้อายุยืน สุขภาพกายและใจแข็งแรง
ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เสริมการทำงานหัวใจ ปอดและกล้ามเนื้อได้!