“มะเร็งช่องปาก” รักษาหายขาดได้ แพทย์ย้ำเทคโนโลยีผ่าตัดไม่กระทบรูปหน้า!
มะเร็งช่องปาก อีกหนึ่งชนิดมะเร็งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นมะเร็งชนิดโตเร็วและอันตรายเสี่ยงลามเข้าต่อมน้ำเหลืองทะลุใบหน้าได้ แพทย์เผยเทคนิครักษามะเร็งที่ได้ผลดีไม่กระทบรูปหน้า!
มะเร็งช่องปาก ไม่ว่าจะบริเวณใดในช่องปาก เช่น ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้นไก่ เพดานปาก พื้นปากใต้ลิ้น ต่อมทอนซิล กระดูกขากรรไกร และส่วนบนของลำคอ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉายรังสี หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน โดยพิจารณาจากชนิด ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง และระยะเวลาของการเกิด อาจมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เช่น การให้ก่อนผ่าตัด หรือการฉายรังสีในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในระยะแพร่กระจาย
มะเร็งช่องปาก ชนิดโตเร็ว สัญญาณอันตราย อย่ามองข้ามแผลร้อนในหายช้า!
สาเหตุมะเร็งช่องปาก สูบบุหรี่-ดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงถึง 15 เท่า!
การผ่าตัดมะเร็งช่องปาก
การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งช่องปาก มักใช้รักษาโรคในระยะที่ 1-3 โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอก และเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ก้อนเนื้องอกออก ในบางกรณีอาจทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอออกด้วย
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมักมีความเข้าใจผิดว่าการผ่าตัดอาจมีผลต่อการรูปร่างของใบหน้า กลัวเรื่องความผิดรูปของโครงหน้า จึงไม่ยอมเข้ารับการรักษาผ่าตัด แต่แท้จริงแล้วการผ่าตัดในปัจจุบันสามารถผ่าตัดโรคโดยมีแผลขนาดเล็ก แพทย์อาจทำการผ่าตัดได้โดยไม่ทำให้เกิดการผิดรูปของใบหน้า แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน รอยโรคมีการขยายวงกว้างขึ้น ลุกลาม อาจทำให้การรักษายากมากยิ่งขึ้น
การรักษามะเร็งช่องปากโดยใช้รังสีรักษา
เป็นการใช้รังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งแบบเฉพาะที่ หรือบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ ช่วยให้ผู้ป่วยเคี้ยว การกลืน และการออกเสียงให้เป็นปกติขึ้น ลดความทุกข์ทรมาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากให้สูงขึ้นได้
ในกรณีที่รอยโรคเกิดในบริเวณริมฝีปาก แพทย์อาจเลือกการใช้รังสีรักษาซึ่งช่วยให้ยังคงรักษาโครงสร้างใบหน้า และการทำงานปกติไว้ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายหลังการผ่าตัดแล้วหากมีข้อบ่งชี้ แพทย์อาจให้การรักษาต่อเนื่องด้วยการใช้รังสีรักษา และ/หรือการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อพบรอยโรคให้รีบรักษา ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ หากผลการผ่าตัดรักษามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน ก็ยังมีการผ่าตัดเสริมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง
การรักษามะเร็งช่องปากโดยใช้ “ยาเคมีบำบัด”
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวปัจจุบันมีน้อยมาก เนื่องจากมะเร็งที่เกิดขึ้นในช่องปากเป็นชนิดที่มีความไวต่อยาเคมีบำบัดค่อนข้างต่ำ แพทย์จึงมักนำมาใช้ร่วมกับการผ่าตัด และรังสีรักษาเป็นวิธีเสริมในการรักษาเพื่อลดขนาดก้อนที่ใหญ่มากก่อนเริ่มการรักษา
ทั้งนี้ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง ส่วนใหญ่การรักษามักจะได้ผลดี และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกหรือยังเป็นไม่มาก สามารถรักษาให้หายขาดได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามแล้วก็ยังสามารถที่จะรักษาเพื่อควบคุมโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคได้ดี
กลิ่นปาก นอกจากหมดความมั่นใจแล้วยังเป็นสัญญาณโรค!
การป้องกันมะเร็งช่องปาก
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการตรวจพบรอยโรคในระยะเริ่มแรก และหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของมะเร็งในช่องปาก เช่น งดสูบบุหรี่ ไม่เคี้ยวหมาก และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์แต่พอควร รวมถึงการแก้ไขสิ่งระคายเคืองในช่องปาก เช่น ฟันคม ฟันปลอมหลวม และรักษาสุขภาพอนามัยของช่องปากให้ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน และ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ บั่นทอนคุณภาพชีวิต เกิดปัญหาการบดเคี้ยว
วิธีการแปรงฟันที่ทันตแพทย์แนะนำ แปรงให้ถูกลดฟันผุ กลิ่นปากได้จริง!