ระยะมะเร็งปากมดลูก เช็กอาการก่อนลุกลามกระดูก-ต่อมน้ำเหลือง
ความน่ากลัวของมะเร็งปากมดลูกคือ การลุกลามและความรุนแรงที่ทวีขึ้นตามระยะเวลาก่อโรค เผยสัญญาณ ระยะก่อนโรคลุกลามอวัยวะใกล้เคียง
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) หนึ่งในโรคร้ายแรงลำดับต้นของสาวไทย เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่จะถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก รองลงมาจากมะเร็งเต้านม โดยต้นตอของมะเร็งปากมดลูกนั้นมาจากเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่รับเชื้อมาในระยะแรกมักจะไม่รู้ตัว เพราะอาการยังไม่ปรากฎแน่ชัด ส่วนใหญ่แล้วโรคจะแสดงอาการเมื่อผู้ป่วยมีอายุ 30-50 ปี
10 สัญญาณมะเร็งปากมดลูก เผยพฤติกรรมและช่วงอายุเสี่ยงโรค
“มะเร็งปากมดลูก” ทำไมบางคนเสี่ยงมากกว่า? วิธีป้องกันตามช่วงอายุ
มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคร้ายจาก เซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูกส่วนล่างใกล้เคียงกับช่องคลอด มีต้นกำเนิดจากเชื้อไวรัส Human Papillomavirus หรือ HPV ที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่
มะเร็งปากมดลูก มีวิธีสังเกตอาการอย่างไร
หากยังไม่เคยเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยสามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ง่าย ๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นของตัวเอง ดังนี้
- อาการผิดปกติหลังมีประจำเดือน ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เช่น ตกขาวที่มีปริมาณมากเกินไปหรือตกขาวที่มีเลือดปน ซึ่งตกขาวที่ปกตินั้นจะมีสีใส ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีอาการคันหรือระคายเคือง ที่พบได้บ่อย คือ มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงมีอาการเจ็บร่วมด้วย
- อาการผิดปกติที่พบได้จากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกปวดท้องน้อยแบบหน่วง ๆ ปวดหลังร้าวไปถึงอุ้งเชิงกราน ปัญหาการขับถ่ายที่ยากกว่าปกติ ปัสสาวะและอุจจาระมีเลือดปน รู้สึกเบื่ออาหาร มีอาการอ่อนเพลียระหว่างวัน เหนื่อยง่าย ไม่มีความกะปรี้กะเปร่า บางรายมีอาการขาบวม เนื่องจากเชื้อมะเร็งอาจลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง
ระยะมะเร็งปากมดลูก
- ระยะที่ 1 (เริ่มต้น)
เชื้อมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุบริเวณปากมดลูกเท่านั้น ซึ่งระยะนี้แพทย์สามารถประเมินขนาดของเนื้องอกได้ผ่านกล้องจุลทรรศน์ ถึงแม้ว่าขนาดเนื้องอกจะใหญ่ขึ้นมากเพียงใด แต่เชื้อก็ยังคงอยู่แค่มดลูกเท่านั้น ยังไม่เกิดการลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ
- ระยะที่ 2 (กระจาย)
เชื้อมะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปสู่อวัยวะใกล้เคียงกับปากมดลูก เช่น เนื้อเยื่อข้างปากมดลูกและผนังช่องคลอดส่วนบน แต่ยังไม่ลุกลามไปสู่อุ้งเชิงกราน ซึ่งในระยะนี้แพทย์สามารถรักษาโดยการตัดมดลูกออกได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะทำการฉายรังสีให้แทน
- ระยะที่ 3 (ลุกลาม)
เชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานและผนังช่องคลอดส่วนล่าง ซึ่งระยะนี้อาจส่งผลร้ายต่อไตและต่อมน้ำเหลืองได้ เนื่องจากเนื้องอกได้ไปกดบริเวณท่อไตจนเกิดภาวะบวมน้ำนั่นเอง โดยแพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกและตามด้วยการฉายรังสี/เคมีบำบัด
- ระยะที่ 4 (สุดท้าย)
เป็นระยะสุดท้ายที่อันตรายมากที่สุด เนื่องจากเชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ลำไส้ตรง รวมถึงอวัยวะส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กระดูก ปอด ต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ ซึ่งระยะนี้จะต้องใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) เท่านั้น
"คันช่องคลอด" ปัญหาเซนซิทีฟในผู้หญิง เกิดจากอะไร? รักษาหายได้หรือไม่?
จะเห็นว่าความน่ากลัวของมะเร็งปากมดลูกจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรจะใส่ใจเรื่องการตรวจภายในและวางแผนเรื่องการฉีดวัคซีน HPV รวมถึงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอร่างกายแสดงอาการผิดปกติ
วิธีรักษามะเร็งปากมดลูก
แพทย์จะประเมินความรุนแรงของโรคและกำหนดทิศทางการรักษาให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งในปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งมีพัฒนาการด้านเทคนิคที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงง่าย ทั้งการผ่าตัด การฉายแสง รวมถึงยาต้านมะเร็งชนิดต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ในการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นป้องกันโรคลุกลาม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 1
สปสช. ชวนหญิงไทยรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองฟรี!
ผู้ป่วยมะเร็งทำคีโมควรเลือกกิน ไขมัน-โปรตีน และคาร์บ อย่างไร?