ป้องกันการหกล้มผู้สูงอายุ ลดพิการ-เสียชีวิต แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น!
รู้หรือไม่ ? คนไทย เสียชีวิตจากการ พลัดตกหกล้มสูงถึงปีละ 1,600 คน 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบกับการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง ร้อยละ 10 ของการลื่นล้ม ทำให้กระดูกสะโพกหัก 25 % เผยสาเหตุและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น!
คนไทยเสียชีวิต “พลัดตกหกล้ม” สูงถึงปีละ 1,600 คน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน โดย 1 ใน 3 พบว่ามักอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุดังกล่าว คือ กระดูกสะโพกแตกหักหรืออุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมาก ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65–75 ปี
“ผู้สูงอายุ” ควรวางแผนตรวจสุขภาพอะไรบ้าง? เผยโรคเรื้อรังที่พบบ่อย!
ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายแบบไหน? ชะลอวัย-เพิ่มการทรงตัว ลดการหกล้มได้!
ซึ่งผู้สูงอายุกับการล้มในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบกับการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง ร้อยละ 10 ของการลื่นล้ม ทำให้กระดูกสะโพกหัก ร้อยละ 25 ของการบาดเจ็บกระดูกสะโพกเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต การลื่นล้มมักเกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำและบันได พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่กระดูกหักในครั้งแรกไม่เคยตรวจหรือรักษาโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่เคยหกล้มในครั้งแรกแล้ว มีแนวโน้มที่จะหกล้มเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า
นอกจากนี้ผู้ป่วยกระดูกหักจากการลื่นล้มที่บ้านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ บางรายมีไตวายเรื้อรัง ดังนั้นจึงทำให้การดูแลรักษาซับซ้อนมากขึ้น และขณะอยู่ในโรงพยาบาลก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปอดบวม ติดเชื้อในระบบต่าง ๆ เป็นต้น
สาเหตุของการลื่นล้ม
- สาเหตุทางกาย เช่น การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด มีปัญหาด้านสายตา และการได้ยิน การรับยาที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต โรคกระดูกพรุน
- สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น เปียก มีหยดน้ำ พื้นผิวขรุขระ มีขั้นสูงต่ำ ขอบไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ของใช้ไม่มั่นคงชำรุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไม่เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้ารองเท้าไม่พอดี
วิธีปฐมพยาบาลผู้สูงอายุล้ม
- ถ้ามีศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล
- ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบ ไม่หนุนหมอน เรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
- ผู้ป่วยที่ปวดสะโพกหรือต้นขาให้นอนในท่าที่ผู้ป่วยปวดน้อยที่สุดแล้วเรียกรถพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนย้ายเอง เพราะอาจจะทำให้มีการเคลื่อนของกระดูกมากขึ้นได้
- ผู้ป่วยศีรษะกระแทก ไม่ปวดต้นคอ รู้ตัวดี ให้ญาตินำส่งโรงพยาบาล กรณีมีแผลเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดไว้นาน 10 – 15 นาที
ท่าออกกำลังกายผู้สูงอายุ ชะลอวัยเพิ่มความแข็งแรงกระดูก ป้องกันการหกล้ม
ป้องกันการลื่นล้มผู้สูงวัย
- ส่งเสริมกำลังของกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกาย
- ฝึกเดินให้ถูกต้อง ฝึกกระดกข้อเท้าขึ้น
- ฝึกการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น คอกอะลูมิเนียมที่มี 4 ขา หรือไม้เท้า
- ปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น ลุกขึ้นยืนช้า ๆ มองหาวัตถุรอบตัวที่สามารถจับยึดได้ในกรณีฉุกเฉิน ไม่เดินเข้าไปในบริเวณที่เปียกน้ำ
- ลูกหลานควรตรวจประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หมั่นคอยสังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็นของผู้สูงวัย สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ทำให้สมดุลในการทรงตัวบกพร่อง
- สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง ทบทวนและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม
- หมั่นคอยประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน ผู้ป่วยที่มีการหกล้มแล้วก็มีแนวโน้มที่จะหกล้มได้อีกควรค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจต้องแก้ไข เช่น ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อย ๆ
สำหรับลูกหลานและคนในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ผู้สูงอายุล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่ โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
ความดันโลหิตสูง รักษาและหยุดยาได้ด้วยการออกกำลังกาย ช่วยลดไขมัน
ระยะมะเร็งปากมดลูก เช็กอาการก่อนลุกลามกระดูก-ต่อมน้ำเหลือง