มะเร็งชนิดไหน? ลุกลามพัฒนาเป็น “มะเร็งตับ” รุนแรงเสียชีวิตใน 6 เดือน!
“มะเร็งตับ” พบมากที่สุดในเพศชาย และเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิง มักจะมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือนเท่านั้น จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 60-70 % มักพัฒนาเป็นมะเร็งตับ
มะเร็งตับ สามารถเกิดได้ 2 ทางคือ "เกิดกับตับโดยตรง"หรือ มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma) จากปัจจัยก่อโรค อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี พยาธอใบไม้ในตับ สารเคมีต่างๆ รวมถึงสารเคมีที่เกิดจากอาหารหมักดอง สุรา ฯลฯ ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะภูมิต้านทานร่างกายต่ำ คุณสมบัติทางพันธุกรรมเป็นต้น นอกจากปัจจัยที่เกิดกับตับโดยตรง มะเร็งตับ ยังเกิดจากการลุกลามมาจากอวัยวะอื่นๆ ได้อีกด้วย
เปิดสาเหตุมะเร็งตับ อัตราเสียชีวิตสูง ไวรัสตับอักเสบบีเสี่ยงมากกว่า!
“ไขมันพอกตับ” หนึ่งในต้นเหตุ ตับแข็ง-มะเร็งตับ สัญญาณ-กลุ่มเสี่ยง!
การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ หรือ มะเร็งตับทุติยภูมิ (Secondary Live Cancer)ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยประกอบขึ้นจากเซลล์ที่เรียกว่า hepatocytes
บทบาทหน้าที่หลักของตับ
การดูดซึมสารอาหารจากกระแสเลือด เพื่อนำไปสร้างเป็นน้ำดี (Bile) เพื่อช่วยในการย่อยไขมัน และตับยังทำหน้าที่สะสมสารอาหารที่ดูดซึมมาจากลำไส้เล็ก ช่วยกำจัดของเสียที่เป็นพิษออกจากร่างกาย นอกจากนี้ตับยังมีหน้าที่ผลิตโปรตีนบางชนิดที่มีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย
ข้อแตกต่างจากอวัยวะอื่นๆของตับคือ ตับได้รับเลือดจากสองแหล่ง กล่าวคือ แหล่งที่หนึ่งจากหลอดเลือดแดงของตับ (Hepatic artery) ซึ่งหล่อเลี้ยงตับด้วยเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจน และแหล่งที่สองคือหลอดเลือดดำพอร์ทัล (Portal vein) ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดูดซึมมาจากลำไส้แล้วนำไปยังตับ นอกจากนี้ตับยังมีความสามารถในการแบ่งเซลล์เพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้เซลล์ตับส่วนใหญ่จะถูกตัดหรือทำลายไปแล้ว
การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ (Liver metastases) หมายถึง เนื้อร้าย มะเร็งที่เกิดจากการแพร่กระจาย จากส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายมายังตับ ซึ่งเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวออกมาจากมะเร็งต้นกำเนิด จะผ่านมาทางกระแสเลือดไปยังตับซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือด ทำให้เซลล์มะเร็งเหล่านี้ตกค้างติดอยู่ที่ตับ ก่อเกิดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า มะเร็งระยะแพร่กระจายมายังตับ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของมะเร็ง โดยที่การแพร่กระจายมายังตับนี้ อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือค่อยพัฒนาอย่างช้าๆ ในระยะเวลาหลายปี หลังจากการรักษามะเร็งต้นกำเนิดแล้วก็ได้ พบว่าการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ ส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะพัฒนาต่อและกระจายไปยังตับในที่สุด
มะเร็งชนิดอื่นๆที่สามารถแพร่กระจายไปยังตับได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งไต และมะเร็งผิวหนัง (Melanoma) เป็นต้น
ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป พบว่าการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับนั้น สามารถพบได้บ่อยกว่ามะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับเองเสียอีกด้วย
สัญญาณมะเร็งตับ ควรเข้าพบแพทย์
ช่วงแรกเริ่มของโรคมะเร็งมักไม่แสดงอาการ แต่หากเริ่มมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด แน่นท้องและท้องผูก รู้สึกอ่อนเพลีย ควบคู่กับมีไข้ต่ำ มีอาการปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา เมื่อลองคลำอาจจะพบก้อนได้ รวมไปถึงอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตและขาทั้ง 2 ข้างบวม ควรรีบพบแพทย์ทันที
ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษา
เพราะมะเร็งตับมักลุกลามเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน! ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงควรปรึกษาแพทย์และตรวจหาความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีดังนี้
- ตรวจโดยเจาะเลือดหาระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีน ซึ่งเป็นสารที่มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับผลิตออกมา
- ตรวจดูก้อนในตับโดยใช้อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็ก MRI หรือฉีดสีตรวจตับ
สัญญาณ มะเร็งตับ ภัยเงียบมะเร็งคร่าชีวิตอันดับ 1 อัตรารอดชีวิตน้อย!
การรักษามะเร็งตับ
- การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่หวังผลในการหายขาดได้ แต่ใช้ได้ในผู้ป่วยที่ก้อนยังไม่โตมาก และการทำงานของตับยังดีอยู่
- การฉีดยาเคมีและสารอุดตันเข้าเส้นเลือดแดง ที่ไปหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำให้ก้อนยุบลง (Chemoembolization)
- การฉีดยา เช่น ฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนัง ใช้ในกรณีก้อนมะเร็งยังเล็กและผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
- การใช้ยาเคมี ใช้เพียงเพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- การฉายแสง ใช้เพื่อบรรเทาอาการของมะเร็ง
- การใช้วิธีการผสมผสาน
วิธีลดเสี่ยงหลีกเลี่ยงมะเร็งตับ
- ไม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อรา ไหม้หรือรมควัน รวมทั้งอาหารที่เตรียมแล้วเก็บค้างคืน เพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่
- ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ กินอาหารที่สะอาด และปรุงสดใหม่ๆ
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- ตรวจสุขภาพประจำปีในทุกๆ ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 1 และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ภาวะพึงพอใจในตนเองต่ำ จากความเครียดและกดดัน แนะวิธีฮีลใจยอมรับในตัวเอง
“บอระเพ็ด” สมุนไพรรสขม สรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร ข้อควรระวังก่อนใช้