ปรับพฤติกรรมเด็กไม่ให้ขี้โกหก ติดเป็นนิสัยจนโตกลายเป็นคนชอบโกหก
เชื่อว่าหลายคนเคยโกหก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โกหกจนเป็นนิสัย เผยเหตุผลที่ต้องโกหก และวิธีการสอนให้เด็กกล้าที่จะพูดความจริง
ไม่มีใครในโลกใบนี้ที่ชอบคนโกหก เพราะทำให้คนที่ถูกหลอกเสียความรู้สึก แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า หากได้โกหกหนึ่งครั้งแล้ว จำเป็นที่จะต้องโกหกตลอดไปอย่างช่วยไม่ได้ แต่ทำไมคนถึงเลือกที่จะโกหก และน้อยคนที่จะไม่เคยโกหกเลยในชีวิต หลายคนเคยโกหกเพราะมีเจตนาดี อย่างเช่น ช่วยลดความขัดแย้ง ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องปลอบใจใครสักคน แต่ที่สังคมเกิดความวุ่นวายเพราะการโกหกที่ทำให้มีคนได้รับความเสียหาย ทั้งคนใกล้ตัว และสังคมวงกว้าง จนบุคคลนั้นๆ เป็นภัยต่อสังคม
"โกหกจนเป็นนิสัย"และเทคนิค "จับคนโกหก" ตามหลักจิตวิทยา
เลี้ยงลูกอยู่หน้าจอ ให้ได้ประโยชน์ แพทย์เผยผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ที่ให้คำแนะนำว่า พฤติกรรมการโกหกโดยหลักๆ แล้วมี 2 ลักษณะสำคัญ ลักษณะแรกคือ
- การโกหกเป็นครั้งคราว มีลักษณะหลีกเลี่ยงพูดความจริง เป็นการโกหกในทางบวก ด้วยจุดประสงค์ดี เช่น ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งลักษณะนี้ก็ปล่อยผ่านไปได้ หรือการโกหกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้ใครเสียหาย ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่คนฟังต้องคัดเลือกแยกแยะ เก็บเป็นบทเรียนในการฟัง
- การโกหกที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยหลักๆ เพราะต้องการเอาตัวรอด จนถึงการก่ออาชญากรรมที่มีพฤติกรรมโกหกเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น คนติดการพนัน ติดยาเสพติด ติดเกม มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งพฤติกรรมการโกหกเป็นประจำนั้นไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต แต่เป็นการเอาตัวรอด โดยต้องโกหกซ้ำๆ จนเสพติดความโกหก และปัจจุบันยิ่งสังคมซับซ้อน มีสิ่งยั่วยุมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เกิดการโกหกมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับการรักษาพฤติกรรมการโกหกโดยตรงนั้น นพ.ยงยุทธ บอกว่า ไม่มีวิธีรักษา เพราะสิ่งที่ต้องรักษาจริงๆ คือพฤติกรรมที่ทำให้ต้องโกหก
วิธีสอนไม่ให้เด็กโกหก
นิสัยบางอย่างอาจต้องเริ่มกันตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะถึงแม้เด็กจะไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก แต่หัวจิตหัวใจของเด็กไม่ได้แตกต่างจากผู้ใหญ่เท่าไหร่นัก วันนี้เราจึงมาพูดกันถึงเรื่อง “การพูดความจริง” ผู้ใหญ่เองบางครั้งก็รู้สึกว่าการพูดความจริงก็ไม่ง่ายเอาเสียเลย เพราะเรากลัวสิ่งที่จะตามมาเมื่อผู้ฟังหรือผู้รับสารได้รับรู้เรื่องที่เราพูด เรากลัวผู้ที่ฟังหงุดหงิด กังวลว่าฟังแล้วจะไม่พอใจ ไม่สบายใจ กลัวผู้ฟังบางคนจะรับไม่ได้ กลัวการขัดแย้ง หรือแม้กลัวว่าจะถูกดุด่าว่าร้าย รวมถึงการกลัวถูกลงโทษ จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไม เด็กๆ ชอบพูดโกหก ไม่พูดความจริงในบางเรื่องบางเหตุการณ์
ทำไมเด็กบางคนชอบพูดโกหก
ก่อนอื่นต้องพิจารณาช่วงอายุของเด็กก่อน ถ้าเด็กอยู่ในช่วง 2 – 6 ขวบ อาจยังไม่สามารถแยกแยะอะไรจริง อะไรไม่จริง รวมถึงอาจมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น และอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นว่าเด็กๆ กลัวที่จะได้รับการตอบสนองในแง่ลบทั้งกับตัวเองและคนอื่นๆ พูดความจริงแล้วอาจทำให้ตัวเอง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฝ่าย ผิดหวัง เสียใจ ไม่พอใจ โกรธ หรือมีความรู้สึกในแง่ลบ จึงเลือกที่จะพูดแล้วทำให้คุณพ่อคุณแม่ หรือคนอื่นๆ สบายใจ ไม่โกรธ ไม่ดุด่า
พ่อแม่ควรรับฟังเรื่องราวของลูก เมื่อลูกมาเล่าว่าทำอะไรผิดมา อย่าไปตำหนิติเตียนทันที ในทางกลับกันให้รับฟังก่อน ให้ชื่นชมที่ลูกกล้าและยอมพูดความจริง ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเขาสามารถพูดความจริงได้ ไม่ต้องปิดบัง จนพฤติกรรมดีๆ นี้ก็จะกลายเป็นธรรมชาติและนิสัยที่ดีติดตัวไป และจะดียิ่งขึ้นเมื่อคุณได้ถามวิธีแก้ปัญหาครั้งนั้น โดยอาจช่วยลูกวางแผนร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก
“เด็กพูดช้า” ปัญหาทางพัฒนาการเด็ก เผยสัญญาณและสาเหตุ
วิธีปราบลูกชอบโกหก
- พ่อแม่ต้องเปลี่ยนวิธีการพูด ทำให้ลูกไว้ใจ เช่น เมื่อลูกทำจานระบายสีหกเลอะเทอะ พ่อแม่อาจพูดกับลูกว่า “แม่เห็นลูกทำสีหก ลูกไปหาผ้ามาเช็ดพื้นหน่อย พื้นจะได้ไม่เลอะ เดี๋ยวลูกลื่นสีหกล้มนะ” ดีกว่าที่จะต่อว่า “ลูกทำอะไรน่ะ” เพื่อไม่ให้ลูกปฏิเสธ
- อย่าตำหนิ ด่า ต่อว่ารุนแรง หรือลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิด ให้คุยกันด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น เพราะจะได้ไม่ทำให้เด็กปิดบังความผิด เพราะบางครั้งเด็กอาจจะกลัวที่จะถูกลงโทษ สร้างพฤติกรรมโกหกให้ตัวเอง จะทำให้เด็กกลายเป็นคนชอบโกหกมากขึ้น
- ห้ามใจอ่อน อย่าโอ๋หรือเข้าข้างลูกเมื่อลูกผิดหรือลูกโกหก แต่ให้ยกตัวอย่างให้ลูกฟังว่าคนทำดีได้อะไร ให้ลูกมองเห็นผลลัพธ์ของทั้งความดีและไม่ดี คนทำไม่ดีจะไม่มีคนรักและไม่มีใครอยากยุ่งด้วย
- ฝึกความรับผิดชอบ ง่ายที่สุด คือ การตรวจเช็คการบ้าน หรืองานของโรงเรียน อาจถามคุณครูว่าลูกมีงานอะไรบ้าง พอกลับถึงบ้านก็ให้ลูกทำให้เสร็จก่อน จากนั้นค่อยให้รางวัลโดยอนุญาตให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ต้องการ เมื่อลูกได้ทำอย่างที่ต้องการก็จะรู้สึกสบายใจ ถือว่าปลูกฝังความรับผิดชอบไปในตัว และลูกก็ไม่จำเป็นต้องโกหกพ่อแม่ หรือห่วงหน้าพะวงหลัง จะได้ทำกิจกรรมอย่างที่ต้องการแบบสบายใจ ไม่ต้องกังวล
- ให้รางวัล พูดชมเชย ให้แรงเสริมเวลาที่ลูกพูดตรงกับความจริง ชมเชยในคุณสมบัติของความซื่อสัตย์ เช่น แม่ชอบที่ลูกพูดความจริง ชอบที่ลูกเป็นคนซื่อสัตย์ ให้ลูกรู้ว่าความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญมาก ลูกจะได้รับการยกย่อง และมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา และอาจขยายผลลัพธ์ของการโกหกให้ลูกฟังอีกว่าการโกหกจะทำลายความเชื่อมั่น ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ใครจะมาเข้าใจเราอีก จะทำให้ลูกอยากเป็นคนชื่อสัตย์และพูดความจรัง
ข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่โกหกใครให้ลูกเห็น เพราะอาจจะทำลูกเลียนแบบจนเป็นนิสัย ท้ายนี้ พ่อแม่อาจต้องสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วยหรือไม่ ซึมเศร้าหรือไม่ มีความบกพร่องของสติปัญญาหรือเปล่า หรือมีปัญหาเรื่องภาษา เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจจะพูดโกหกออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่พูดออกมาเพราะสาเหตุจากการป่วย ซึ่งหากสังเกตว่าลูกโกหกบ่อย หรือมีภาวะไม่ปกติที่กล่าวมา ควรพามาพบกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเพื่อวางแผนดูแลต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ และ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
7 เทคนิครับมือ เด็กดื้อ-ก้าวร้าว เผยสาเหตุที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรรู้!
วิธีการดูแลเด็กสมาธิสั้น ยอมรับ ยืดหยุ่น เข้าใจ เยียวยาได้หายเร็วขึ้น