ภัยเงียบจากฝุ่น PM2.5 เสี่ยงภูมิเเพ้ หอบหืด กำเริบรุนแรงขึ้นได้
โรคภูมิเเพ้ มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิเเพ้ หรือสิ่งเเวดล้อมบางอย่างไวกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 หนาแน่น แพทย์เผยอาการที่ควรพบแพทย์และวิธีรักษา
โรคภูมิเเพ้ ภัยเงียบใกล้ตัวของทุกช่วงวัย ! โดยมีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิเเพ้ หรือสิ่งเเวดล้อมบางอย่างไวกว่าปกติ จนทำให้อาการภูมิเเพ้กำเริบ ซึ่งอาการเเพ้อาจจะเกิดกับระบบใดระบบหนึ่งก่อน หรืออาจจะเกิดอาการเเพ้พร้อมกันหลายๆระบบ ขึ้นอยู่กับอาการเเพ้ของผู้ป่วย เเละยังส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตในเเต่ละวัน
อาการที่พบบ่อยโรคภูมิเเพ้
- ทางระบบหายใจ เช่น คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล ไอ หายใจลำบาก
ปฐมพยาบาล “เลือดกำเดาไหล” จากฝุ่น PM2.5 ไหลเยอะแค่ไหนควรพบแพทย์
ภูมิคุ้มกันบำบัด รักษามะเร็งปอดเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด

- ทางระบบผิวหนัง เช่น มีผื่นลมพิษ ผื่นผิวแห้ง คันผื่นตามข้อพับ
- ทางระบบเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด
อาการเฝ้าระวัง ที่เข้าข่าย “อันตราย”
ปกติแล้วอาการของคนเป็นโรคภูมิแพ้จะมีหลากหลาย แต่ที่พบบ่อยก็คือมีลักษณะเหมือนคนเป็นหวัด ไอ จาม มีน้ำมูก แต่ในบางรายอาจจะแพ้แล้วมีอาการคันที่ขอบตา มีผื่นขึ้นตามตัวหรือผิวหน้า แต่ในบางคนที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น แพ้อาหารก็อาจจะมีอาการช็อค แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ซึ่งหากเป็นอย่างหลังก็สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นการเร่งด่วน
สาเหตุโรคภูมิเเพ้
- ทางพันธุกรรม สามารถพบบ่อยจากการที่ครอบครัวเป็นโรคภูมิเเพ้
- ด้านสิ่งเเวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิเเพ้ เพราะสารก่อภูมิเเพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งเเวดล้อมที่ใกล้ตัวเรา หรือการสัมผัสสิ่งของต่างๆ เช่น ไรฝุ่น ควันท่อไอเสีย ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ สัตว์เลี้ยงในบ้าน
ฝุ่น PM 2.5 กับโรคภูมิแพ้
ฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อย่างมาก เพราะกลไกการอักเสบที่ลงลึกไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่างส่งผลต่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจและภูมิแพ้ผิวหนัง เวลาที่สูดเข้าไปจะเกิดการอักเสบทั้งทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก จาม น้ำมูก คัดจมูก ลามไปถึงโพรงไซนัสอักเสบ ส่วนการอักเสบทางเดินหายใจส่วนล่างคือ บริเวณหลอดลมกับถุงลม
ดังนั้นฝุ่น PM 2.5 นอกจากสัมพันธ์กับภูมิแพ้ยังสัมพันธ์กับโรคหอบหืดอีกด้วย ที่น่าสนใจคือมีข้อมูลระบุว่า เมื่อร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมได้ไวขึ้น และเกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืดกำเริบรุนแรงขึ้นได้
การรักษาโรคภูมิแพ้
- เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยหลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง เราจะรู้วิธีและสามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย เพื่อลดการกำเริบของโรคและลดการเกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่ ๆ อีกได้
- การใช้ยาพ่นต่อเนื่อง
- การล้างจมูก ต้องล้างให้ถูกวิธีด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกในโพรงจมูก
- การใช้วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) เพื่อให้ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้น้อยลงหรือหายจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น ต่อไรฝุ่น ต่อรังแคน้องแมว เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีต่อสารก่อภูมิแพ้ ใช้เวลารักษาประมาณ 3 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองและผลข้างเคียงของผู้ป่วย ปัจจุบันมีทั้งวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และอมใต้ลิ้น
- การผ่าตัด ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบรุนแรงหรือมีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีติ่งเนื้อ Polyp โดยต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
- ยาเสริมอื่น ๆ ตามอาการ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานแบบไม่ง่วง ยาหยอดตาแก้แพ้ หากมีอาการภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบร่วม
อย่างไรก็ตามไม่ควรมองว่าโรคภูมิแพ้เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอาการแพ้ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะหากปล่อยไว้จนเรื้อรังนอกจากยากต่อการรักษา ยังอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายมากกว่าที่คิด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4 และ โรงพยาบาลกรุงเทพ