สาเหตุที่แท้จริงของการปวดไมเกรน สมองส่วนไหนทำงานผิดปกติ
ปวดไมเกรน ปัญหาที่หลายคนต้องพบเจอ ชวนทำความเข้าใจ อาการและปัจจัยสาเหตุการเกิดไมเกรนที่แท้จริง เหตุผลที่ควรพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่มีความซับซ้อนและมีหลายปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาและงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ไมเกรนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่ผิดปกติในหลายส่วน

- ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ช่วงรอบเดือนที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การอดอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สมองทำงานผิดปกติและเกิดอาการไมเกรนได้
สมองส่วนไหนทำให้เกิดไมเกรน
สมองส่วนสำคัญในการเกิดไมเกรนคือไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) จากการศึกษาพบว่า สมองส่วนไฮโปธาลามัสจะเกิดการทำงานผิดปกติได้นานถึง 48 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน อาการในระยะนี้จะเรียกว่าอาการนำของไมเกรน (Prodrome Symptoms) ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดตึงต้นคอ คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน สมาธิไม่ดี หาวนอนบ่อย ง่วง หรือมีความอยากอาหารบางชนิด
กระบวนการใดทำให้เกิดไมเกรน
กระบวนการที่ทำให้เกิดไมเกรนเริ่มต้นจากการส่งสัญญาณจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสมายังแกนสมอง และส่งต่อไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักที่มาเลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า เมื่อปลายประสาทนี้ถูกกระตุ้นจะเกิดการหลั่งสาร CGRP (Calcitonin Gene – Related Peptide) และ PACAP (Pituitary Adenylate Cyclase – Activating Polypeptide) ที่บริเวณปลายเส้นประสาทรอบ ๆ หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดการอักเสบและหลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัว รวมทั้งเกิดการส่งสัญญาณความปวดที่เพิ่มมากขึ้น
สัญญาณความปวดจากปลายประสาทสมองคู่ที่ 5 จะส่งกลับไปยังสมองส่วนรับรู้ความปวด ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น นอกจากนี้สัญญาณความปวดยังสามารถส่งไปบริเวณต้นคอผ่านเส้นประสาทที่คอส่วนบน ทำให้เกิดอาการปวดตึงต้นคอ อีกทั้งมีการกระจายของสัญญาณความปวดไปยังสมองส่วนอื่น ๆ ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติในสมองส่วนนั้น ๆ เช่น อาการแพ้แสง อาการแพ้เสียง ปัญหาคิดช้าหรือความจำไม่ดี เป็นต้น
ไมเกรนเป็นโรคที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก การเข้าใจถึงสาเหตุและการจัดการกับอาการไมเกรนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อควบคุมและลดการเกิดไมเกรนในชีวิตประจำวัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ