คัดกรองวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดี วิธีการรักษาหายขาดได้หากรู้ทันในระยะแรก
มะเร็งท่อน้ำดีในไทยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับเรื้อรัง แพทย์เผยวิธีคัดกรองและวินิจฉัย ย้ำหากพบในระยะแรก มีโอกาสหายขาดสูง
ท่อน้ำดีมีหน้าที่ลำเลียงน้ำดีจากตับเข้าไปเก็บที่ถุงน้ำดี และนำน้ำดีจากถุงน้ำดี ปล่อยลงสู่ลำไส้เล็กเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร สำหรับการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากเซลล์ของท่อน้ำดีที่เป็นเซลล์ปกติแล้วกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
ในประเทศไทยเกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับเรื้อรังจากการรับประทานอาหารปลาดิบที่ปนเปื้อนตัวพยาธิใบไม้ในตับโดยปลาดิบเหล่านี้จะมีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ที่เนื้อปลาและเกล็ดใต้ครีบ

เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาวน้อย ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อย ปลากระสูบ โดยทำเมนูก้อยปลาดิบ พล่าปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าดิบ หรือปลาร้า
ตัวพยาธิใบใม้ในตับจะเข้าไปสะสมบริเวณท่อทางเดินน้ำดี และทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อเกิดการอับเสบเรื้อรังจนทำให้เซลล์แบ่งตัวผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง การรับประทานอาหารที่ปรุงจากปลาดิบนี้ จะพบได้บ่อยในประชากรภาคอีสาน จึงพบมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าภาคอื่น การดื่มสุราเป็นประจำ ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี สารพิษอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้
อาการมะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ ในระยะแรกผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการ เนื่องจากก้อนจะมีขนาดเล็ก อาจมีอาการจุกแน่นท้องเล็กน้อย เมื่อก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้นจึงจะเริ่มมีอาการปวดท้อง ปวดหรือเสียดใต้ชายโครงขวา อาจพบอาการตาเหลือง ตัวเหลือง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- มะเร็งท่อน้ำดีชนิดขั้วตับ หรือมะเร็งท่อน้ำดีที่อยู่ภายนอกตับ ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อขนาดของก้อนใหญ่ขึ้น ก็จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการของท่อน้ำดีตีบ หรือท่อน้ำดีอุดตัน ได้แก่อาการตาเหลือง ตัวเหลือง อุจจาระสีซีด คันตามตัวโดยไม่มีผื่น ไม่มีสาเหตุ น้ำหนักลด หรือมีไข้หนาวสั่น
วิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดี
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ตรวจความผิดปกติของการทำงานของตับ
- การตรวจอัลตราซาวด์ตับและช่องท้องส่วนบน
- การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ เอ็กซเรย์แม่เหล็ก (MRI + MRCP) เพื่อแสดงให้เห็นการขยายของท่อน้ำดี ตำแหน่งและขอบเขตที่ทางเดินน้ำดีที่ถูกอุดตัน และสามารถแสดงลักษณะกายวิภาคของท่อน้ำดีและก้อนเนื้องอกได้อย่างแม่นยำ
- การตรวจ ERCP: เพื่อให้เข้าใจสภาพทั้งหมดของทางเดินน้ำดี ทั้งยังสามารถเก็บน้ำดีและเซลล์ที่มะเร็งท่อน้ำดีปล่อยออกมาได้โดยตรง
แนวทางการรักษา
แพทย์จะทำการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะโรคและการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อทำการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
- การผ่าตัดเนื้องอก เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ได้ผลดีที่สุด..และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
- การผ่าตัดระบายท่อน้ำดี ในผู้ป่วยที่คาดว่าจะผ่าตัดแต่พบระยะโรคไม่สามารถผ่าตัดออกได้ ควรได้รับการผ่าตัดระบายท่อน้ำดีเพื่อรักษาอาการคันและตัวเหลืองตาเหลือง
- การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography: ERCP) ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกออกได้หรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
- เคมีบำบัด/รังสีรักษา กรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดเอามะเร็งออกได้ไม่หมด หรือใช้ในการรักษาหลังผ่าตัด..เพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด
ปัจจุบันการรักษาสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ในกรณีที่มะเร็งท่อน้ำดีอยู่ในระยะเริ่มแรก หากมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองอาจมีความจำเป็นต้องใส่สายระบายน้ำดีเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด สำหรับระยะลุกลามจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ หรือการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อชะลอการดำเนินโรค หากผู้ป่วยมีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองมากๆ สามารถรักษาได้โดยการระบายท่อทางเดินน้ำดี ผ่านการส่องกล้องหรือการใส่สายทางหน้าท้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
การป้องกันมะเร็งท่อน้ำดี
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน
- ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ อาหารหมักดอง
- การตรวจคัดกรองมะเร็งและการอัลตราซาวน์ช่องท้องทุกปี ก็จะทำให้เราทราบความเสี่ยง เพื่อที่เราจะได้วางแผนในการรักษาได้ทันเวลา
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) ซึ่งคิดค้นโดยสถาบันมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ง่ายและรวดเร็ว เพียงนำตัวอย่างปัสสาวะหยดลงบนชุดตรวจแล้วรอผล 5-10 นาที ก็จะบ่งบอกได้ว่าในร่างกายมีพยาธิใบไม้ตับอยู่หรือไม่ หากขึ้น 2 ขีดแสดงว่ามีเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ต้องทานยาถ่ายเพื่อกำจัดออกไปจากร่างกาย แต่หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตัวเหลือง เจ็บท้อง น้ำหนักลด จำเป็นต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดีหรือไม่ หากมีความเสี่ยงควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปะวัติโรคตับเรื้อรัง โรคตับอักเสบ ควรรับการติดตามตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้สามารถได้รับการรักษาได้ทันเวลาเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 1 และ โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น